คิวบา ต้นแบบของการทำเกษตรในเขตเมือง

คิวบา ต้นแบบของการทำเกษตรในเขตเมือง

เมื่อเอ่ยถึงคิวบา สิ่งแรกที่หลายคนอาจนึกถึงคือซิการ์ชั้นดี หรือนักปฎิวัติชื่อก้องโลกอย่าง เช เกบารา แต่ที่หลายคนอาจไม่ทราบคือคิวบานั้นจัดเป็นประเทศต้นแบบของการทำเกษตรในเขตเมืองที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในปัจจุบัน

ฟาร์มปลูกพืชตั้งอยู่ข้างตึก ทิวทัศน์ที่แปลกตาในคิวบา

ในช่วงทศวรรษที่ 80 เศรษฐกิจคิวบาอยู่ในยุคที่เฟื่องฟูที่สุด พื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อปลูกอ้อยโดยใช้เครื่องจักรหนัก รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของคิวบาทำรายได้มหาศาลจากการส่งออกน้ำตาล โดยมีประเทศคู่ค้าอย่างรัซเซียที่คอยรับซื้อ ผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่เขตเมืองที่เต็มไปด้วยความเจริญและการศึกษาขั้นสูง คิวบาในช่วงเวลานั้นพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันปัจจัยการเกษตรและอาหารจากต่างประเทศเป้นหลัก แต่แล้วเมื่อรัสเซียล่มสลาย การส่งออกของคิวบาก็หยุดชะงักอาหารและน้ำมันที่เคยนำเข้าก็หมดไป นำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจและการขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่

เมื่อไม่มีน้ำมันการทำเกษตรโดยใช้เครื่องจักรจึงเป็นไปไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการในประเทศจึงต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบการทำเกษตรที่ใช้เพียงแรงงงานคนและวัสดุอินทรีย์เป็นหลัก การทำเกษตรในพื้นที่ชนบทกลายเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไปเนื่องจากไม่มีน้ำมันสำหรับใช้ในระบบขนส่ง แนวคิดการทำเกษตรในเขตเมืองจึงได้เริ่มต้นขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

บรรยากาศในเมืองฮาวานา คิวบา

ทุกวันนี้การทำแปลงปลูกผักในพื้นที่ว่างหรือแม้แต่บนดาดฟ้าสามารถถูกพบเห็นได้จนชินตาตามเมืองใหญ่ๆในคิวบา ไม่เว้นแม้แต่ ฮาวาน่า เมืองหลวงของคิวบา แปลงเพาะปลูกพืชที่ตั้งอยู่ท่ามกลางตึกรามบ้านช่องเป็นภาพสะท้อนระบบการทำเกษตรในเขตเมืองซึ่งเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดของคิวบาหลังจากยุคของการทำเกษตรแปลงใหญ่ที่พึ่งพาเครื่องจักร

แปลงเกษตรในเมืองเหล่านี้ใช้แรงงานคนและสัตว์โดยแทบไม่มีเครื่องจักรเกี่ยวข้อง ปุ๋ยและปัจจัยการเพาะปลูกทั้งหมดได้มาจากวัสดุอินทรีย์เป็นหลัก ปริมาณผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่จึงไม่สูงมากนัก

ฟาร์มในเขตเมืองที่คิวบา

สิ่งหนึ่งที่น่าประหลาดใจคือที่นี่แทบไม่มีร้านขายอาหาร ซุปเปอร์มาร์เกตหรือมินิมารท์เลย เนื่องจากคนส่วนใหญ่ซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร ระบบพ่อค้าคนกลางสำหรับสินค้าเกษตรจึงไม่จำเป็น ผู้คนที่นี่ซื้อสินค้าเกษตรจาก Organoponico ซึ่งมีลักษณะเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ขนาดเล็กในเขตเมืองที่มีร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรในตัว

Organoponico เน้นการจำหน่ายสำหรับคนในท้องถิ่นและมีการดำเนินงานโดยสหกรณ์ มีข้อมูลว่า 90% ของสินค้าเกษตรที่บริโภคในเมืองฮาวาน่าถูกผลิตมาจาก Organoponico ที่อยู่ในและรอบเมือง การทำเกษตรอินทรีย์ที่เน้นการพึ่งพาตัวเองทำให้คิวบามีความมั่นคงทางอาหารมากขึ้นกว่าเดิมและด้วยระบบเกษตรที่เป็นเอกลักษณ์เช่นนี้ทำให้คนทั่วโลกต่างสนใจมาศึกษาและเที่ยวชม เกิดเป็นอุตสากรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ทำรายได้ให้กับประเทศได้เป็นกอบเป็นกำ

ป้ายบอกราคาผลผลิตเกษตรใน Organoponico

ประเทศไทยอาจไม่ได้เผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจหรืออาหารในเร็วๆนี้แต่บทเรียนจากประเทศคิวบาก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติหรือวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นและนำไปสู่การขาดแคลนอาหารได้ในอนาคต การพึ่งพาปัจจัยบางอย่างมากเกินไปอาจทำให้เราคุ้นชินจนเราจินตนาการไม่ออกว่าหากปัจจัยเหล่านั้นหมดไปเราจะมีชีวิตอยู่รอดได้อย่างไร การเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่นแปลงที่ไม่คาดฝันเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญกันตั้งแต่วันนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร

 

 

เขียนโดย: ผศ. ดร. สิริวัฒน์ สาครวาสี

ภาพทั้งหมดถ่ายโดย Jennifer Cockrall-King ได้รับอนุญาตให้ใช้ภายใต้เงื่อนไข

“Copyright Jennifer Cockrall-King, permission granted to Siriwat Sakhonwasee, 2018.”

อ่านเกี่ยวกับ การเกษตรในเขตเมืองของคิวบาเพิ่มเติมได้ในหนังสือ Food and the City: Urban Agriculture and the New Food Revolution เขียนโดย Jennifer Cockrall-King

Visitors: 1,198,184