พบไมโครพลาสติกสะสมในผักผลไม้

พบไมโครพลาสติกสะสมในผักผลไม้

นับเป็นงานวิจัยที่น่าตกใจมากๆ หลังจากเราได้ข่าวไมโครพลาสติกสะสมไปในระบบนิเวศตั้งแต่บนยอดเขาไปจนถึงก้นมหาสมุทร และยังพบปนเปื้อนในอาหารทะเล น้ำดื่ม เกลือ ตอนนี้งานวิจัยล่าสุดสองชิ้นในอิาลีและจีนยืนยันว่ามีการพบว่าไมโครพลาสติกถูกดูดซึมเข้าสู่รากของพืชไปสะสมในผลผลิตที่เรารับประทานไม่ว่าจะเป็นใบ ราก หรือผล จากงานวิจัยแครอตเป็นผักที่พบไมโครพลาสติกสะสมมากที่สุด ในขณะที่โดยทั่วไปจะพบไมโครพลาสติกสะสมในผลไม้มากกว่าผัก

งานวิจัยสองชิ้นที่เพิ่งถูกเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบผลการศึกษาคล้ายกัน ชิ้นแรกตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research โดยมหาวิทยาลัยคาตาเนียในอิตาลี พบไมโครพลาสติกในผักผลไม้ เช่นแครอต ผักกาดเขียว บรอคคอลลี่ มันฝรั่ง แอปเปิล และลูกแพร ที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตและตลาดที่ขายในเมือง ซึ่งนับเป็นการศึกษาวิจัยครั้งแรกที่พบไมโครพลาสติกในผักผลไม้

งานวิจัยอีกชิ้นที่กำลังจะตีพิมพ์ในวารสาร Nature Sustainability โดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยชายฝั่ง Yantai ในประเทศจีน ร่วมกับมหาวิทยาลัย Leiden ในเนเธอร์แลนด์พบว่ารอยปริแตกในมันฝรั่งและรากผักกาดเขียวสามารถดูดดซึมไมโครพลาสติกจากแหล่งน้ำและดิน แม้ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์จะรู้ว่าแล้วว่านาโนพลาสติกขนาด 50 นาโนมิเตอร์ สามารถดูดซึมเข้าทางรากได้ แต่งานวิจัยครั้งนี้พบไมโครพลาสติกที่ใหญ่กว่านั้นถึง 40 เท่าถูกดูดซึมเข้าไปในผักผลไม้ได้เช่นกัน

งานวิจัยในอิตาลีพบว่าพลาสติกชิ้นเล็กที่สุดที่พบในแครอตมีขนาดประมาณ 1.5 ไมโครมิเตอร์ และใหญ่ที่สุดพบในผักกาดเขียวมีขนาดราว 2.5 ไมโครมิเตอร์ แครอตเป็นผักที่มีไมโครพลาสติกสะสมอยู่มากที่สุด ส่วนผลไม้ที่มีการเก็บตัวอย่าง แอปเปิลมีการสะสมของไมโครพลาสติกมากกว่าแพร์ โดยทั่วไปจะพบไมโครพลาสติกสะสมในผลไม้มากกว่าผัก ซึ่งนักวิจัยคาดว่าน่าจะเกี่ยวกับไม้ผลมีระบบรากที่ใหญ่กว่าผัก

แม้เราจะยังไม่รู้ผลกระทบข้างเคียงที่แน่ชัดของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพ แต่นักวิจัยทั้งสองคณะแสดงความกังวลถึงผลการศึกษา และกระตุ้นให้มีงานวิจัยเพิ่มเติมถึงผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพในระยะยาว

งานวิจัยทั้งสองได้รับการเผยแพร่ผ่าน Plastic Health Coalition ก่อนการประชุมสุดยอดว่าด้วยพลาสติกกับสุขภาพของคนในปีหน้าที่อัมเตอร์สดัม ซึ่งจัดโดย Plastic Soup Foundation

นับเป็นอีกผลการศึกษาที่ตอกย้ำถึงวิกฤตมลภาวะจากพลาสติกที่จำเป็นต้องมีการเร่งแก้ไขโดยด่วน

 

 

Visitors: 1,430,161