ไทยชนะ ประโยชน์และความเสี่ยง

"ไทยชนะ" ประโยชน์และความเสี่ยง

ไทยชนะถูกนำมาใช้ในหลายองค์กร รวมถึงห้างสรรพสินค้าตั้งแต่ทางเข้าทางออก ไปจนถึงร้านค้าทุกร้านในห้าง ข้อมูลที่จะถูกส่งไปเข้าสู่ระบบคือเวลาเข้า เวลาออก และข้อมูลส่วนบุคคลที่ลงทะเบียนไว้ เลขบัตรประชาชน ชื่อ สกุล เบอร์โทรศัพท์มือถือ

ในมุมของการควบคุมโรค ถ้าพบผู้ป่วยที่เคยลงทะเบียนไว้จะสามารถสืบกลับไปว่า เขาหรือเธอเคยเดินทางไปที่ไหน เมื่อไหร่ และสามารถรู้ว่าบริเวณนั้นมีใครอยู่อีกบ้าง

นอกจากนี้ภายใต้สมมติฐานที่ว่าการแพร่ระบาดสัมพันธ์โดยตรงกับความหนาแน่นของผู้คนในพื้นที่ปิด ทำให้สามารถหาความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อและความหนาแน่นได้

สิ่งนี้เป็นความฝันของนักระบาดวิทยา

 

สมมติถ้าเราไปร้านค้า A เวลา 10 โมงเช้าถึงเที่ยงวันเสาร์ ช่วงนั้นมีคนอยู่ 10 คน มีผู้ป่วย X เข้ารับการรักษาโควิดและเผอิญว่าได้ไปที่ร้าน A ช่วงเวลานั้นเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อน

ถ้าไทยชนะถูกนำมาใช้จริง คนอีก 9 คนจะถูกติดต่อโดยทีมระบาดวิทยา ขึ้นกับมาตรการของการควบคุมโรค อย่างน้อยจะต้องถูกสัมภาษณ์ อาจ Home quarantine (กักตัวอยู่บ้าน) หรือ State quarantine (กักตัวโดยรัฐ) อาจถูกตรวจเชื้อโควิดด้วยการจิ้มจมูกและคอซึ่งเป็นการตรวจหลัก

ดูเหมือนว่าไทยชนะจะมีประโยชน์ทุกคนควรใช้ เรามามองกันอีกมุม

 

ความเสี่ยงของไทยชนะคือเรื่องความเป็นส่วนตัว ข้อมูลที่ได้ไป ถึงแม้รัฐจะออกมาบอกว่าข้อมูลนั้นเข้ารหัสอย่างดีและจะนำไปใช้กับการควบคุมโรคเท่านั้น แต่ข้อมูลที่อธิบายเรื่อง Privacy, Confidentiality, และ Security นั้นยังไม่แน่ใจ

ในภาวะปกติ ในเรื่องของ Privacy หลายคนคงไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าเราอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องความปลอดภัยในชีวิตหรือไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่ามาในสถานที่บางแห่ง การระบุสถานที่และเวลา หลายคนที่ทำการเช็คอินในโซเชียล ก็เป็นลักษณะเดียวกัน แต่เราสามารถเลือกได้ที่จะเปิดเผยหรือไม่ มีเอกสารให้กดยอมรับหรือปฏิเสธการนำข้อมูลไปใช้

มาพูดกันต่อเรื่อง confidentiality คือการเปิดเผยข้อมูลของเราต่อบุคคลที่สาม หรือการนำข้อมูลของเราไปใช้ต่อ รัฐบอกว่าข้อมูลเหล่านี้จะนำไปใช้เพื่อการควบคุมโรคเท่านั้น แต่คำยืนยันนี้อาจไม่แข็งแรงพอสำหรับคนบางคน ใครที่มีสิทธิ์ใช้ข้อมูลและด้วยระดับความลึกของข้อมูลอย่างไร เช่น ศูนย์ศบค.อาจดูได้เพียงความหนาแน่น ขณะที่หน่วยงานกรมควบคุมโรคที่ต้องออกสอบสวนโรคอาจใช้ข้อมูลได้ถึงการระบุตัวตน

นอกจากเรื่องความปลอดภัย ข้อมูลว่าใครไปร้านไหน เวลาอะไร สามารถนำไปใช้ทางการค้าได้ เจ้าของข้อมูลอาจขายข้อมูลให้กับผู้ต้องการ

สุดท้ายคือเรื่องของ Security หลายครั้งที่เว็ปไซต์ราชการถูกแฮ็ก หลายคนจึงไม่มีความมั่นใจในการใช้แอพพลิเคชั่นจากรัฐ ถ้าโปรแกรมถูกแฮก หรือเจ้าหน้าที่บางคนนำข้อมูลออกไปโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมและใช้ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน การยืนยันและบอกมาตรการ ความปลอดภัยของข้อมูลก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องของ privacy และ confidentiality

ด้านล่างคือข้อมูลที่ไทยชนะสื่อสารเรื่อง privacy confidentiality และ security ทั้งหมด 1.เข้ารหัส 2.ใช้โดยผู้ที่ได้รับอนุญาต 3.เก็บไว้ 60 วัน

Terms and conditions ที่น่าสนใจ (สำหรับร้านค้า)

กิจการจะมีการให้คะแนน (ไม่แน่ใจว่าคะแนนมาจากอะไรน่าจะมาจากความหนาแน่นและระยะเวลาที่คนอยู่ในร้าน)

การ Check in แต่ไม่ Check out มีผลต่อการถูกปิดกิจการ

ถ้าไม่มี smart phone ให้เก็บเบอร์โทรศัพท์ (เท่าที่ได้ไปตามร้านต่างๆจะมีให้ลงชื่อ สกุล เบอร์โทร และเวลาเข้า-ออก)

การใช้ไทยชนะ จะใช้ตลอดไป ใช้จนสิ้นสุดปีนี้ หรือจะใช้ไปถึงเมื่อไหร่ ทางศบค.ยังไม่ได้แจ้ง ปัจจุบันนี้เราต้องเจอกับไทยชนะ ลองชั่งประโยชน์และความเสี่ยง

ปัจจุบันยังไม่ได้บังคับใช้ให้ประชาชนต้องลงทะเบียน แต่บังคับเจ้าของกิจการที่ได้ลงทะเบียนไปแล้ว ถึงแม้ไม่มีโทษชัดเจน แต่ส่งผลต่อการปิดกิจการได้

 

พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

 
 
ขอบคุณเรื่อง : BookDojo : https://www.blockdit.com/articles/5ec75c9cc12e290ca2b92ed8/#

 

Visitors: 1,405,381