สรุปทุกประเด็นคำถาม โรค COVID-19 เคลียร์ให้หายข้องใจจะได้ไม่สับสน

 
 สรุปทุกประเด็นคำถาม โรค COVID-19 เคลียร์ให้หายข้องใจจะได้ไม่สับสน
 
 
ตั้งแต่มีการระบาดของโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 ก็มีประเด็นสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับโรค COVID-19 เกิดขึ้นมากมาย และนำไปสู่การหาคำตอบแบบที่เป็นข่าวปลอมบ้าง ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนมาบ้าง ดังนั้น เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจจะไปกันใหญ่ เราได้รวบรวมคำถามยอดฮิต พร้อมคำตอบมาให้ตรงนี้แล้ว
 
โควิด

 

 
ข้อมูลทั่วไปของ COVID-19
 
1. โคโรนาไวรัส คืออะไร
          โคโรนาไวรัส เป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจในคน โดยไวรัสชนิดนี้มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และเป็นเชื้อที่มีมานานกว่า 50-60 ปีแล้ว เชื้อโคโรนาไวรัสมีอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่จะไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรง เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา แต่ก็มีโคโรนาไวรัสบางสายพันธุ์ที่ก่ออาการรุนแรงจนถึงขั้นปอดอักเสบได้ เช่น โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคเมอร์ส หรือโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส ที่เคยเป็นโรคระบาดมาก่อน

          จนกระทั่งในปลายปี 2019 ก็เกิดการระบาดของโคโรนาไวรัสขึ้นอีกครั้ง โดยครั้งนี้พบว่าเป็นโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบการระบาดมาก่อน จึงมีการเรียกชื่อไวรัสตัวนี้ว่า โคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยภายหลังก็ได้มีการเรียกชื่อไวรัสตัวนี้ใหม่อย่างเป็นทางการ ว่า SARS-CoV-2  หรือ 2019-nCoV และทาง WHO ก็ได้ประกาศชื่อโรคอย่างเป็นทางการ ว่า COVID-19 ซึ่งย่อมาจาก CO : Corona, VI : Virus, D : Disease และ 19 ซึ่งก็คือปี 2019 ปีที่เริ่มต้นระบาดนั่นเอง
 
ไวรัสโคโรน่า

 

2. COVID-19 ต่างจาก โรคซาร์ส และโรคเมอร์ส อย่างไร

          จริง ๆ แล้ว ทั้ง 3 โรคเกิดจากโคโรนาไวรัสเหมือนกัน อาการจึงจะเกิดในระบบทางเดินหายใจคล้าย ๆ กัน แต่ถึงแม้จะเป็นไวรัสตัวเดียวกัน ทว่าก็เป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ ดังนั้น ความรุนแรงของโรคก็จะต่างกัน

          โดยความรุนแรงของโรคซาร์สทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 10% โรคเมอร์ส อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 30% ส่วนโรค COVID-19 เป็นโรคใหม่ที่ยังควบคุมไม่ได้ในตอนนี้ จึงยังไม่ทราบข้อมูลความรุนแรงของโรคที่แน่ชัด แต่จากสถิติผู้เสียชีวิตจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ก็พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2% โดยประมาณ

3. COVID-19 ระบาดมาจากไหน

ไวรัสโคโรน่า

          โคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 น่าจะเกิดจากการติดเชื้อจากสัตว์ในตลาดสดอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งจากพฤติกรรมของไวรัส คาดว่าน่าจะเกิดมาจากงู โดยเชื้อส่งผ่านจากค้างคาวมาสู่งู และงูไปยังมนุษย์ ทั้งนี้ โคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ เกิดตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2019 เป็นต้นมา แต่วินิจฉัยโรคได้หลังปีใหม่ ก่อนจะถอดรหัสพันธุกรรมสำเร็จในวันที่ 11 มกราคม 2020

 

4. โคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ ติดต่อทางไหน แพร่จากคนสู่คนได้อย่างไร

          เกิดจากการสูดดมเอาละอองฝอยในอากาศที่มีเชื้อไวรัสเข้าไป กล่าวคือ หากร่างกายสูดดมเอาละอองฝอยจากการไอ จาม ของผู้ติดเชื้อก็จะสามารถรับเชื้อโคโรนาไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ เช่นเดียวกันกับการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ อุจจาระ หรือไปสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้ออยู่ แล้วเอามือมาจับของกินเข้าปาก ถูหน้า ขยี้ตา ก็อาจจะติดเชื้อไวรัสก่อโรค COVID 19 ได้เหมือนกัน

          ทั้งนี้ อัตราการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ พบว่า ผู้ติดเชื้อ 1 ราย สามารถแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้อีก 2-6 ราย โดยเฉลี่ย

 

5. COVID-19 รับเชื้อแล้วป่วยทันทีเลยไหม

          ระยะฟักตัวของเชื้อโคโรนาไวรัสจะอยู่ที่ประมาณ 14 วัน แต่มีช่วงเวลาแสดงอาการระหว่าง 0-24 วัน และก็มีบางเคสที่ใช้เวลาถึง 27 วัน ในการแสดงอาการป่วย อย่างไรก็ตาม ในบางคนที่ภูมิต้านทานแข็งแรง แม้รับเชื้อไปแล้วก็อาจไม่มีอาการป่วยเลย
 
ไวรัสโคโรน่า

6. COVID-19 อาการเป็นอย่างไร

          อาการโคโรนาไวรัสจะคล้าย ๆ กับไข้หวัดทั่วไป โดยจะมีไข้สูง ไอ จาม มีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อย แต่หากเป็นมากก็อาจมีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ท้องเสีย อาเจียน และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอาการปอดอักเสบ (Pneumonia) ซึ่งความรุนแรงของอาการก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย เช่น ความแข็งแรงของภูมิต้านทานโรค จำนวนเชื้อที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย รวมไปถึงระยะเวลาที่ได้รับเชื้อไวรัส

          อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 อาจทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการชัดเจนเลยก็ได้ ซึ่งในเคสนี้ก็ถือว่าเป็นพาหะของโรค ฉะนั้นหากคนที่เป็นพาหะไปไอ จาม หรือละอองฝอยจากน้ำลายกระเด็นไปติดตามวัตถุต่าง ๆ เช่น ที่จับประตู ปุ่มกดลิฟต์ หรือพื้นผิวอื่น ๆ ที่ง่ายต่อการสัมผัสต่อ ก็อาจส่งเชื้อให้คนอื่น ๆ ได้

7. COVID-19 อันตรายแค่ไหน ป่วยแล้วเสียชีวิตไหม?

          อย่างที่บอกว่าความรุนแรงของโรค COVID-19 ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน โดยจากสถิติแล้ว พบว่า ผู้ติดเชื้อประมาณ 80-95% จะมีอาการไม่รุนแรง ส่วนอีก 5-20% พบว่ามีอาการปอดอักเสบ ไข้ ไอ หอบเหนื่อย และอีกประมาณ 2-3% ที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ขณะที่มีผู้รักษาหายแล้วเฉลี่ย 55.6% ดังนั้น เมื่อติดเชื้อแล้วจึงมีโอกาสหายสูงกว่าเสียชีวิต

8. ติดเชื้อแล้วเป็นอันตรายต่อปอดแค่ไหน ?

          จริง ๆ แล้วโรคนี้มีผู้ติดเชื้อประมาณ 80% ที่เชื้อไม่ลงปอด เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดาเท่านั้น แพทย์จะรักษาตามอาการ และมีโอกาสหายป่วยสูง

        ส่วนผู้ป่วยที่มีเชื้อลงปอด จะมีประมาณ 20% แต่เมื่อลงปอดไปแล้วจะก่อความรุนแรงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานร่างกายของแต่ละคนด้วย ไม่ใช่ทุกคนที่เชื้อลงปอดแล้วจะมีอาการหนัก โดยจากข้อมูลผู้ป่วยทั่วโลกพบว่า มีผู้ป่วยเพียง 5% เท่านั้นที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง แพทย์อาจต้องใช้เครื่อง ECMO หรือเครื่องหัวใจ-ปอดเทียมแบบเคลื่อนย้าย มาทำงานแทนหัวใจและปอดของผู้ป่วย เพื่อรักษาชีวิต
 
9. COVID-19 มียารักษาไหม ฉีดวัคซีนป้องกันได้หรือเปล่า?
          ยารักษา COVID-19 ที่ได้การรับรองจากประเทศจีน มีชื่อยาว่า Favilavir นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้ยาหลายขนานในการรักษาผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ (Lopinavir ร่วมกับ Ritonavir) ใช้ร่วมกับยาต้านไข้หวัดใหญ่ และยาต้านไข้มาลาเรีย (คลอโรควิน) ซึ่งยาทั้งหมดนี้ยังต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลในการรักษาที่เชื่อถือได้ ส่วนวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาด้วยเช่นกัน
 
 
10. ผู้ป่วยโรค COVID-19 รักษาหายแล้วจะกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม?
          แม้ผลเลือดของผู้ป่วยที่หายจากโรค COVID-19 จะพบว่า มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์นี้อยู่ในตัว แต่ก็มีเคสผู้ป่วยที่รักษาหาย แล้วกลับมาป่วย COVID-19 ซ้ำอีกครั้ง นั่นแสดงให้เห็นว่า โรคนี้สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกนะ
 
ไวรัสโคโรน่า

11. ระยะแพร่ระบาด เฟสต่าง ๆ หมายถึงอะไร ?

  • เฟส 1 คือ พบการติดเชื้อเฉพาะผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด แต่ยังไม่พบการติดเชื้อในประเทศไทย
  • เฟส 2 คือ พบคนไทยติดเชื้อจากนักท่องเที่ยว หรือติดเชื้อมาจากคนไทยที่เดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น กรณีคนไทยติดเชื้อจากญาติที่เดินทางไปเมืองอู่ฮั่น หรือพนักงานขายของติดเชื้อมาจากนักท่องเที่ยว
  • เฟส 3 คือ พบการติดเชื้อระหว่างคนในประเทศด้วยกันเอง แม้จะไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ ถือเป็นช่วงที่ระบาดอย่างรวดเร็ว เช่น สถานการณ์การระบาดในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากหญิงชราคนหนึ่ง

การติดต่อ-แพร่เชื้อ
 
1. จับมือ-เดินสวนกัน เสี่ยงติดเชื้อหรือไม่
          ไม่ต้องกลัวว่าการเดินสวนกันหรือการสัมผัสตัวผู้ติดเชื้อจะทำให้เราป่วยเป็นโรค COVID-19 ตราบใดที่เราไม่ได้รับละอองฝอยจากการไอ จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่งผู้ป่วยแล้วเอามือที่สัมผัสเชื้อนั้นมาหยิบของกินเข้าปาก หรือขยี้ตา เพราะเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ จะติดต่อได้ก็ต่อเมื่อเรารับเชื้อเข้าสู่เยื่อบุในร่างกายเรานั่นเอง แค่เดินสวนกันหรือจับมือกันแต่ไม่ได้โดนสารคัดหลั่งใด ๆ จากผู้ป่วยก็ไม่ติดค่ะ
 
ไวรัสโคโรน่า

 

2. สั่งซื้อของจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี จะติดเชื้อไหม

          ตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 คนที่ชอบซื้อของออนไลน์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการระบาดของโรคอยู่ ก็ชักจะหวั่นใจ เกรงว่าจะได้รับเชื้อผ่านพัสดุที่ส่งมาจากต่างประเทศหรือไม่ ประเด็นนี้อยากเตือนให้ปลอดภัยไว้ก่อนค่ะ เพราะข้อมูลจาก ศ. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา บอกไว้ว่า เชื้อโคโรนาไวรัส สาเหตุของโรค COVID-19 สามารถอยู่บนพื้นผิวได้นานถึง 20 วัน ในสภาพอากาศเย็น และในสภาพอากาศร้อน เชื้อไวรัสจะอยู่ได้ 3-9 วัน

          ทั้งนี้ อุณหภูมิที่เชื้อโคโรนาไวรัสจะมีชีวิตอยู่ได้ก็คือ 20-40 องศาเซลเซียส ดังนั้น เมื่อได้รับพัสดุจากไหนก็ตาม ควรฉีดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคทิ้งไว้สักพัก และอย่าลืมล้างมือหลังจับพัสดุทุกครั้ง
 
3. เชื้อโคโรนาไวรัสสามารถอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ ได้นานแค่ไหน
          เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว เผยข้อมูลว่า จากการศึกษาไวรัสที่มีลักษณะคล้ายกัน พบว่าสามารถอยู่บนพื้นผิวโลหะ แก้ว ไม้ หรือพลาสติก ประมาณ 4-5 วัน ณ อุณหภูมิห้อง แต่ในสภาพภูมิอากาศประมาณ 4 องศาเซลเซียส เชื้อจะอยู่ได้ราว ๆ 28 วัน ในกรณีอุณหภูมิมากกว่า 30 องศาเซลเซียส อายุเชื้อไวรัสจะสั้นลง และในสภาพความชื้นที่มากกว่า 50% เชื้อไวรัสจะอยู่ได้นานกว่าสภาพความชื้นที่ 30% 

4. จับธนบัตร-เหรียญมีโอกาสติดเชื้อหรือไม่ ?

          สามารถติดเชื้อได้หากบนธนบัตรและเหรียญมีเชื้อโคโรนาไวรัสอยู่ แล้วนำมือมาสัมผัสใบหน้า ดังนั้น เพื่อความมั่นใจ หลังจับธนบัตรและเหรียญแล้ว ควรล้างมือทุกครั้ง หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
 

5. ว่ายน้ำในสระเดียวกัน จะติด COVID-19 ไหม?

          ประเด็นนี้ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสจากสระว่ายน้ำ ดังนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่าสารคลอรีนน่าจะพอฆ่าเชื้อไวรัสได้อยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ก็อยากเตือนให้ระมัดระวังไว้ก่อน โดยเฉพาะการว่ายน้ำในที่ที่มีคนแออัด หรือว่ายน้ำในสระที่ไม่ได้มาตรฐาน

6. ติด COVID-19 ทางเพศสัมพันธ์ได้ไหม?

          ในปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่ติดเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่ทั้งนี้ก็ไม่น่าวางใจ เพราะการใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ยิ่งหากมีโอกาสได้สัมผัสใกล้ชิด มีโอกาสในการสัมผัสน้ำลายจากการจูบกัน โอกาสที่จะเสี่ยงติดโรค COVID-19 ก็ย่อมมีอยู่แล้ว

7. สุนัขและแมวแพร่เชื้อได้ไหม?

          ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่า สัตว์เลี้ยงยอดนิยมอย่างสุนัขและแมว สามารถแพร่เชื้อโคโรนาไวรัสได้ แต่เพื่อความสะอาดและปลอดภัย ก็ควรล้างมือทุกครั้งหลังจับสัตว์เลี้ยง

8. โคโรนาไวรัส สามารถติดต่อผ่านทางอุจจาระได้หรือไม่?

          มีรายงานพบเชื้อในอุจจาระ จึงมีโอกาสแพร่จากอุจจาระได้ ดังนั้น เวลากดชักโครก ให้ปิดฝาและล้างมือทุกครั้ง

9. โคโรนาไวรัส ทนความร้อนได้นานแค่ไหน?

          เชื้อโคโรนาไวรัสสามารถทนความร้อนได้ถึง 70 องศาเซลเซียส นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราควรกินอาหารที่ปรุงสุก สด ใหม่ และหลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบทุกประเภท
 
10. แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัส ได้ไหม ?
          เอทิลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70-90% (โดยปริมาตรน้ำ) สามารถทำลายไขมันที่หุ้มไวรัสตัวนี้ได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นเกิน 95% เพราะมีปริมาณแอลกอฮอล์มาก แต่มีปริมาณน้ำน้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะดูดซึมผ่านเยื่อหุ้มผนังเซลล์ของเชื้อโรค
 
11. โคโรนาไวรัส กลัวอะไรบ้าง
          นอกจากความร้อนที่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เชื้อไวรัสตัวนี้ยังจะตายได้ง่าย ๆ ด้วยแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้น 70-90% (โดยปริมาตรน้ำ) และการทำความสะอาดด้วยสบู่อย่างเหมาะสม กล่าวคือ ล้างมือด้วยสบู่เป็นระยะเวลา 15-30 วินาที รวมไปถึงสารลดแรงตึงผิวต่าง ๆ เช่น ผงซักฟอก สารฟอกขาว (Sodium hypochlorite) ที่ความเข้มข้น 0.1-0.5% โพวิโดน ไอโอดีน 1% หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5-7.0% เป็นต้น สิ่งเหล่านี้แหละที่โคโรนาไวรัสจะไม่ทน เพราะไวรัสชนิดนี้มีไขมันหุ้มอยู่ด้านนอก ดังนั้น หากใช้สารลดแรงตึงผิวทำลายไขมันที่หุ้มอยู่ได้ ก็จะฆ่าไวรัสได้
 
12. พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อมีอะไรบ้าง ?

ตัวอย่างเช่น 

  • เดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการแพร่ระบาด
  • สัมผัสสารคัดหลั่งจากการไอ จาม ของผู้ติดเชื้อ
  • ชอบนำมือมาสัมผัสใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นขยี้ตา แคะจมูก แคะหู 
  • ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น 
  • ไม่ล้างมือก่อนหยิบจับอาหารมารับประทาน
  • รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
  • อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย หรือผู้เข้าข่ายเฝ้าระวัง
  • อยู่ในบริเวณที่มีคนจำนวนมาก สถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน

 

13. ทำอย่างไรถ้าสงสัยว่าจะติดเชื้อ ?

หากมีประวัติเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับบุคคลกลุ่มเสี่ยง แล้วมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัยไว้ตลอดเวลา แล้วโทร. 1422 ถ้าเข้าเกณฑ์จะมีรถพยาบาลมารับถึงที่พัก 

 
14. กักตัว 14 วันต้องทำอะไรบ้าง ?
          หากเป็นคนในกลุ่มเสี่ยงป่วยโรค COVID-19 และต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน นี่คือสิ่งที่ควรต้องทำในช่วงที่กักตัวรอดูอาการ
 
ไวรัสโคโรน่า

 

 
การตรวจหาเชื้อ
 
1. วิธีตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทำยังไง
          เมื่อมีอาการเข้าข่ายต้องสงสัยโรค COVID-19 แพทย์อาจจะทำการป้ายคอเพื่อตรวจสารพันธุกรรม (PCR) หรือเจาะเอาน้ำจากโพรงจมูกและลำคอไปตรวจหาเชื้อ หรือหากมีอาการอุจจาระร่วง ก็จะเก็บอุจจาระไปตรวจหาเชื้อด้วยเช่นกัน
 
2. ไปต่างประเทศกลับมา ต้องไปตรวจ COVID-19 ไหม
 
ไวรัสโคโรน่า

 

          ในกรณีที่ไปต่างประเทศมา โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาดของโรค แต่กลับมาแล้วไม่ได้มีอาการป่วยใด ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องไปตรวจให้เสียเงินและเวลาไปเปล่า ๆ แต่ถ้าเมื่อไรที่มีอาการป่วย ค่อยไปตรวจก็ได้

 

3. ใช้สิทธิประกันสังคม-บัตรทอง ตรวจ COVID-19 ได้ไหม

          ในกรณีที่ป่วย เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง สามารถใช้ทั้งสิทธิประกันสังคมและสิทธิบัตรทองตรวจ COVID-19 ได้ฟรี แต่หากไม่มีอาการป่วยแล้วอยากตรวจ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจเอง
 
โควิด

 

4. ตรวจหา COVID-19 ที่โรงพยาบาลไหนได้บ้าง ค่าตรวจเท่าไร
          ถ้าอยากตรวจหาเชื้อโคโรนาไวรัส สามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลต่อไปนี้
         
         1. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000-6,000 บาท (หากไม่มีอาการ ไม่รับตรวจ)

         2. โรงพยาบาลเปาโล ทุกสาขา ค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 (รวมค่าบริการแล้ว) ทราบผลวันรุ่งขึ้น

         3. โรงพยาบาลรามาธิบดี ค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 บาท รับตรวจวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.00 น. ทราบผลหลังจากตรวจ 6 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น

         4. โรงพยาบาลพญาไท 1 ค่าใช้จ่ายประมาณ 7,300 บาท (ยังไม่รวมค่าบริการอื่น ๆ)

         5. โรงพยาบาลพญาไท 2 ค่าใช้จ่ายประมาณ 6,500 บาท

         6. โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000 บาท (รวมค่าบริการแล้ว) รู้ผลไม่เกิน 2 วัน

         7. โรงพยาบาลนวมินทร์ ค่าใช้จ่ายประมาณ 7,300 บาท (ยังไม่รวมค่าบริการอื่น ๆ)

         8. โรงพยาบาลรามคำแหง (ไดรฟ์ทรู) ค่าใช้จ่ายประมาณ 6,500 บาท

         9. โรงพยาบาลวิภาวดี (ไดรฟ์ทรู) ค่าใช้จ่ายประมาณ 6,500 บาท

         10. โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ค่าใช้จ่ายประมาณ 7,500 บาท

         11. โรงพยาบาลพระราม 9 ค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000-10,000 บาท

         12. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ค่าใช้จ่ายประมาณ 9,900 บาท
 
การป้องกัน
 
1. ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน COVID-19 ได้ไหม
          การใส่หน้ากากอนามัยเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันโคโรนาไวรัสได้ในด่านแรก ๆ เช่น ช่วยป้องกันละอองฝอยที่มากับน้ำลายคนอื่น แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือ เราต้องหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ด้วย เพราะส่วนใหญ่แล้วเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายผ่านมือของเราที่ไปสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ แล้วนำมาขยี้ตา แคะจมูก
 
ไวรัสโคโรน่า

2. ควรเลือกใช้หน้ากากอนามัยแบบไหนดี

          กระทรวงสาธารณสุขแนะนำการเลือกใช้หน้ากากอนามัย ดังนี้ 

          คนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วย หรือมีอาการทางเดินหายใจ

          สามารถใช้หน้ากากผ้าได้ แม้ประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อจะไม่เทียบเท่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ที่มีลักษณะด้านหนึ่งเป็นสีฟ้า หรือสีเขียว ส่วนอีกด้านเป็นสีขาว เพราะไม่กันชื้น แต่สำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงดี ไม่ได้อยู่ในที่แออัด หรือไม่ได้อยู่ในที่สาธารณะ ชุมชนจริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย เพียงแต่ต้องซักหน้ากากผ้าเป็นประจำ เว้นแต่กรณีที่ต้องเข้าพื้นที่ชุมชน ก็สามารถใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ได้

          คนป่วย คนที่ต้องดูแลผู้ป่วยหรือใกล้ชิดผู้ป่วย

          - สำหรับคนป่วย มีอาการไอ มีน้ำมูก ควรใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อป้องกันเชื้อโรคออกจากตัว หากไอหรือจามขึ้นมา เชื้อก็จะติดอยู่ในหน้ากาก จึงช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดได้

          - กรณีที่ต้องดูแลผู้ป่วย หากที่บ้านมีผู้ป่วย ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร แม้เป็นไข้หวัดธรรมดาก็ควรใช้หน้ากากอนามัย

          ในส่วนของหน้ากาก N95 ควรสงวนไว้ใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่รักษาผู้ป่วย เพื่อป้องกันการฟุ้งของละอองฝอย ซึ่งคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากาก N95 เพราะใส่แล้วอึดอัด หายใจไม่ออก อีกทั้งยังมีราคาแพง

          ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใส่หน้ากากอนามัยชนิดไหนก็ควรใส่ให้ถูกวิธี และพยายามอย่าจับตรงหน้ากาก เพราะเป็นแหล่งเชื้อโรค

 

3. หน้ากากอนามัยใช้ซ้ำได้หรือไม่ ควรใส่กี่วันทิ้ง

          ในช่วงที่หน้ากากอนามัยหาซื้อได้ยาก การใส่หน้ากากอนามัยซ้ำจึงเป็นวิธีที่หลายคนใช้กัน ซึ่งก็สามารถใส่หน้ากากอนามัยซ้ำได้ หากเราไม่ได้ป่วย และสภาพหน้ากากอนามัยไม่ได้สกปรก หรือชำรุดจนไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ หรือถ้าไม่ได้ป่วยจะใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้าที่สามารถซักได้ก็ได้นะคะ แต่หากมีอาการป่วย ไอ จาม อยู่ แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งจะดีกว่า

4. หน้ากากอนามัยทำจากทิชชูป้องกันเชื้อไวรัสได้ไหม ?
          เพราะหน้ากากอนามัยขาดแคลนอย่างหนัก หลายคนจึง DIY หน้ากากอนามัยแบบใช้ทิชชูแทน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า หน้ากากอนามัยแบบทิชชู ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานทางการแพทย์ และไม่สามารถที่จะป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ การใช้ทิชชู หากมีการไอ จาม หรือหายใจเข้า-ออก ก็ทำให้กระดาษทิชชูเปื่อยยุ่ยได้แล้ว 

5. หน้ากากผ้าป้องกันเชื้อโรคได้ไหม ?
          กรมอนามัยให้ข้อมูลว่า หน้ากากผ้าเป็นทางเลือกของคนไม่ป่วยในการป้องกันเชื้อโคโรนาไวรัส โดยแนะนำให้ใช้ผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าสาลู มาประดิษฐ์หน้ากากผ้า เพราะยิ่งซักยิ่งเล็ก ใยจะออกมาเหลือประมาณ 1 ไมครอน ซึ่งช่วยป้องกัน COVID-19 ได้ 54-59% ถือว่าเพียงพอสำหรับคนทั่วไปที่ใช้ในพื้นที่แออัด

6. ใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือ ฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัส ได้จริงไหม ?
          หากแอลกอฮอล์เจลมีความเข้มข้น 70-90% (โดยปริมาตรน้ำ) สามารถฆ่าโคโรนาไวรัสได้ แต่การล้างมือด้วยน้ำสะอาดและถูสบู่อย่างถูกวิธี เป็นวิธีทำความสะอาดมือที่ดีที่สุด

7. การล้างจมูก หรือบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อได้ไหม ?
          ไม่สามารถป้องกันได้ 


8. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่-ปอดอักเสบ ช่วยป้องกัน COVID-19 ได้ไหม ?
          ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะโรค COVID-19 เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส ขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่ และปอดอักเสบเกิดจากเชื้อชนิดอื่น


9. เครื่องฟอกอากาศป้องกันโคโรนาไวรัสได้ไหม ?
          การใช้เครื่องฟอกอากาศไม่สามารถช่วยป้องกัน COVID-19 ได้ เพราะโคโรนาไวรัสตัวนี้ มีอนุภาคที่เล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งเครื่องฟอกอากาศไม่สามารถดักจับได้


10. ฟ้าทะลายโจรรักษา-ป้องกันการติดเชื้อได้ไหม
          ประเด็นนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาถึงสรรพคุณของฟ้าทะลายโจรในการต้านโคโรนาไวรัส ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการวิจัยอีกพอสมควร แต่ทั้งนี้ฟ้าทะลายโจรเคยเป็นสมุนไพรที่ถูกศึกษาในพรีคลินิก และพบว่า สารในฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณฆ่าเชื้อไวรัสโรคซาร์สได้ นอกจากนี้สรรพคุณของฟ้าทะลายโจรยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ และต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้อีกด้วย

11. วิธีป้องกัน COVID-19 ทำยังไงได้บ้าง

          นอกจากการใส่หน้ากากอนามัยแล้ว วิธีป้องกัน COVID-19 ก็ควรกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ กินอาหารปรุงสุก รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนแออัด หรือหากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกที่มีคนพลุกพล่าน ก็ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และพกเจลล้างมือติดตัวเอาไว้ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ ด้วย

          หรือหากจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรค COVID-19 ก็ไม่ควรเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอ จาม พยายามรักษาระยะห่างที่ประมาณ 2 เมตร

 

 

Visitors: 1,403,323