เรื่อง เหี้ย ที่ไม่ควร เหี้ย

เรื่อง"เหี้ย" ที่ไม่ควร"เหี้ย"

ใจเย็นนะครับ ขออนุญาตใช้คำไม่สุภาพเพื่อให้เข้าถึงบทความอย่างจริงจัง

 

ใครว่าเหี้ยเป็นสัตว์ที่พึงรังเกียจ ผู้คนปรุงแต่งจินตนาการเปรียบให้มันเป็นตัวแทนของเรื่องที่ไม่ดี แต่ทราบไหมครับ กลับมีเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ที่หลายคนไม่รู้เกี่ยวกับ “เหี้ย” มากมาย

 

ย้อนไปในสมัยโบราณคนอินเดียและคนไทย มีการยอมรับที่จะเลือกใช้คำว่า "เหี้ย" อย่างปกติ ศัพท์ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตเรียกเหี้ยว่า "โคธา" หรือ "โคธ" อย่างในวรรณคดีโบราณของอินเดีย มีแม่น้ำหนึ่งที่มีชื่อว่า "โคธาวารี" หากแปลก็จะได้ความว่า "แม่น้ำเหี้ย" นั่นเอง

ชาดกเรื่องที่ 138 “โคธชาดก” จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเครือวัลย์วรวิหาร ธนบุรี

รวมทั้งชาดกเรื่องที่ 138 โคธชาดก ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเหี้ยโคธบัณฑิต เพราะฉะนั้นไม่ควรมีอะไรไปเปรียบเหี้ยให้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่ดีเลย

 

หากจะย้อนไปในประวัติศาสตร์มีเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับเหี้ย ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง เมื่อช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้านายและเชื้อพระวงศ์ ต่างเสวยไข่เหี้ยตาม รัชกาลที่ 1

ไข่เหี้ย
 

คนในวังรู้จักการกินไข่ของตัวเหี้ยมานานแล้ว โดยเฉพาะระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทรงโปรดเสวยไข่ตัวเหี้ยยิ่งนัก เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดเสวยเหี้ยกับมังคุดเป็นอย่างยิ่ง

ในอดีตพระองค์เคยรับราชการที่เมืองราชบุรี ตำแหน่ง "หลวงยกกระบัตร" ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ และได้สมรสกับคุณนาค (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) เป็นธิดาในตระกูลเศรษฐีมอญที่มีรกรากอยู่ที่บ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม

วันหนึ่งพระองค์ท่านโปรดจะเสวยไข่เหี้ย แต่ไม่มีใครสามารถหาได้เลย เพราะไม่ใช่ฤดูกาลเหี้ยวางไข่ เจ้าจอมแว่นสนมเอกจึงคิดค้น "ขนมไข่เหี้ย" ตั้งเป็นเครื่องถวายแทน และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น

”ขนมไข่หงส์”

 
ขนมไข่หงส์ หรือ ขนมไข่เหี้ย(ในอดีต)
 

รวมทั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีบันทึกอยู่ในบทความของท่านถึงขนาดกล่าวกับ ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ ความว่า

"อยู่แถวซอยสวนพลูแล้วหาไข่เหี้ยกินยาก" จนศาสตราจารย์สุกิจรับปากว่าจะหาไข่เหี้ยส่งไปให้เพราะแถวบ้านท่านอาจารย์สุกิจยังพอมีเหี้ยอาศัยอยู่เยอะ

โดยเมนูกับข้าวไข่เหี้ย มีวิธีรังสรรค์ปรุงโดยการนำไข่เหี้ยไปต้มสุก เมื่อไข่เหี้ยต้มสุกแล้วจะมีไข่ขาวที่ยังเหลวอยู่ เขาก็เอาเข็มมาสักรอบๆ ให้เป็นรูพรุนแล้วแช่น้ำเกลือให้ความเค็มซึมเข้าไปภายใน จากนั้นนำมาย่างไฟแล้วนำไปปรุงเป็นอาหารมีรสชาติมันๆ เค็มๆ กินกับมังคุด เข้ากันดีนักแล 

 
เมนูเก่าแก่ไข่เหี้ยต้ม จาก ไทยพีบีเอส
 

ในเมื่อยุคก่อน เหี้ยนั้นไม่มีวี่แววจะไปเกี่ยวข้องเป็นสิ่งไม่ดี แล้วทำไมล่ะ คนถึงเปรียบให้เหี้ยเป็นที่สิ่งไม่ดี ?

เริ่มมีผู้ใหญ่ยุคเก่าเมื่อไม่นานมานี้ พูดเปรียบเทียบบุคคลและสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาจะให้เข้าบ้านว่า “ชาติเหี้ยหางแดง แร้งตีนสั้น เข้าที่ไหนก็จังไรที่นั่น” กับมูลเหตุนี้ทำให้เหี้ยกับอีแร้งกลายเป็นสัตว์ต้องห้ามและน่ารังเกียจ

 
 

โดยเฉพาะในอดีตเรามักจะฝังศพไว้ในป่าช้า และตัวเหี้ยก็ดันชอบอาศัยอยู่บริเวณนั้น เพราะมีศพให้คุ้ยกินแสนสบาย พอพูดถึงซากศพแล้วมนุษย์เห็นเข้าก็รังเกียจสยดสยอง พอรู้ว่าเหี้ยกินซากศพเข้าไปอีก เหี้ยจึงถูกตราหน้าว่าเป็นสัตว์ไม่ดีนำแต่ความอัปปรีย์อปมงคลมามอบให้

หรืออีกมูลเหตุหนึ่งที่มักเปรียบคนทำชั่วว่า "เหี้ย" ที่เรียกกันแต่ก่อนนั้น อาจเรียกเพี้ยนมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า "ตั่วเฮีย" หมายถึง พี่ชายคนโต หรือพี่ใหญ่

 
ชาวจีนนิยมสูบฝิ่น
 

ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการปราบปรามฝิ่นอย่างหนัก ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศสยามต่างติดฝิ่นและเสียผลประโยชน์ เมื่อทางการสั่งห้าม ทั้งเสพและจำหน่าย จึงได้พากันออกอาละวาด ตั้งตัวเป็นกบฏ บ้างก็ลงแดงฝิ่น คลุ้มคลั่ง ฆ่าฟันชาวสยามล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวสยามในเวลานั้นจึงได้ใช้คำว่า "ตั่วเฮีย" เป็นคำใช้ด่าทอและเพี้ยนมาเป็น "ตัวเหี้ย" หรือ "เหี้ย" ไปในที่สุด

 
ผู้คนในสยามติดฝิ่น
 

เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า "เหี้ย" จึงติดอยู่ในหัวของคนสยาม เป็นตัวแทนของความน่ารังเกียจและความอปมงคล ทั้งการนำเอารูปลักษณ์ไปเปรียบเทียบก่นด่ากันให้สนุกสนานบ้าง หรือแม้แต่จะเอาไปเปรียบเทียบในทางชั่วร้ายต้นเหตุของความเสนียดจัญไร

ทั้งทั้งที่เหี้ยไม่ใช่สัตว์เลวร้ายหรือไปสร้างความเดือดร้อนนักหนาให้แก่มนุษย์ จนต่อมาต้องลำบากเปลี่ยนชื่อให้มันเป็น “ตัวเงิน ตัวทอง” และ มาเป็น “วรนุช” ไปในที่สุด

 

ที่มา : https://www.blockdit.com/articles/5eae1b36a5219d0cad2be807/#

Visitors: 1,384,148