แมงดาทะเล กับ ธุรกิจค้าเลือด

แมงดาทะเล กับ ธุรกิจค้าเลือด

รู้ไหมว่า มนุษย์ใช้เลือดแมงดาทะเลในการผลิตยาและเครื่องมือทางการแพทย์มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แต่เราจะปล่อยให้พวกมันถูกรีดเลือดเพื่อผลประโยชน์ของมนุษย์ไปเช่นนี้หรือ?
 

- เลือดสีน้ำเงิน –

เคยเห็นของเหลวสีฟ้าขุ่นเหมือนเลือดเอเลี่ยน แต่มีมูลค่ามหาศาลมาก่อนไหม?

มันคือเลือดแมงดาทะเล สัตว์จำพวกมีเปลือกแข็งหุ้มและอยู่ในไฟลัมอาร์โทรพอด (Artropod) มีถิ่นอาศัยบริเวณชายฝั่งอเมริกาเหนือและเอเชีย

เลือดของมันมีสีน้ำเงิน (Hemocyanin) เนื่องจากมีส่วนประกอบของทองแดงในปริมาณมาก มีโปรตีนสำคัญที่ใช้ในกระบวนการผลิตยาและวัคซีน ทำให้เลือดแมงดาทะเลมีมูลค่าที่สูงถึง 15,000 เหรียญต่อควอร์ต (หรือเกือบ 500,000 บาท ต่อลิตร)

แมงมุม กุ้ง กั้ง ปู สัตว์ในไฟลัมมอลลัสกาบางชนิด หมึกสาย และหมึกทะเล เป็นสัตว์ที่มีเลือดสีน้ำเงินเช่นเดียวกับแมงดาทะเล - (https://i2.wp.com/www.compoundchem.com/wp-content/uploads/2014/10/Chemistry-of-Blood-Colours-2015.png?ssl=1)

ด้วยความต้องการที่มากขนาดนั้น แมงดาทะเลจึงเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และอาจทำให้เกิดปัญหาแก่อุตสาหกรรมการผลิตยาในอนาคต

 

- ฟอสซิลที่มีชีวิต –

"โครงสร้างร่างกายของแมงดาทะเล" - (https://squidtoons.com/portfolio-item/anatomy-of-the-horseshoe-crab/)
 

นักโบราณคดีพบซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์มีอายุกว่า 450 ล้านปี ลักษณะหน้าตาเหมือนกับแมงดาทะเล โดยมีรยางค์ 5 คู่ มีกระดองคว่ำแข็งหุ้ม พร้อมทั้งหางยาวเหมือนกันไม่มีผิด โครงสร้างต่างๆเหล่านี้ยังปรากฏในแมงดาทะเลรุ่นปัจจุบัน ทำให้ได้รับสมญานามว่า “ฟอสซิลที่มีชีวิต” เพราะเกิดการวิวัฒนาการน้อยมาก

(1)https://storiesfromthemuseumfloor.wordpress.com/2019/08/30/the-bloody-tale-of-the-horseshoe-crab/ (2)https://www.nytimes.com/2012/05/20/books/review/horseshoe-crabs-and-velvet-worms-by-richard-fortey.html
 

แม้ชื่อของมัน (ในภาษาอังกฤษ) จะมีคำว่า “ปู” (horseshoe crabs) แต่พวกมันไม่ได้เป็นสัตว์ตระกูลเดียวกับปู กุ้ง หรือ กั้ง – เช่นเดียวกับภาษาไทย มันไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับแมงดานา เพราะมันไม่ใช่ “แมลง” สายพันธุ์ของแมงดาทะเลใกล้ชิดกับ “แมงป่อง” มากกว่าสัตว์ทั้งหมดข้างต้น

แมงดาทะเลจะขึ้นมาชุมนุมบริเวณคาบสมุทรเคปเมย์ในช่วงฤดูร้อนเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ โดยมีศัตรูตัวฉกาจ เช่น นกน็อต ที่ชอบกินไข่ของพวกมัน

(1)https://blog.nature.org/science/2017/07/26/underwater-secrets-horseshoe-crabs-spawning/ (2)https://www.dosbirds.org/event/october-dos-monthly-meeting-horseshoe-crabs-shorebirds/
 

- ความลับของแมงดาทะเล -

เช่นนั้นแล้ว เลือดของแมงดาทะเลกลายเป็นวัตถุดิบที่มีมูลค่ามหาศาลได้อย่างไร?

เรื่องมันมาจากนักวิจัยที่ชื่อ เฟรเดริค แบง พยาธิแพทย์ผู้สนใจเกี่ยวกับสัตว์ทะเลโบราณ เนื่องจากแมงดาทะเลเติบโตและวิวัฒนาการขึ้นมาในยุคที่น้ำทะเลเต็มไปด้วยเชื้อโรคและแบคทีเรีย แสดงว่าร่างกายของพวกมันจะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันที่เยี่ยมยอดเพื่อรักษาชีวิตของตนเองไว้

"นายแพทย์เฟรเดริก แบง ภาควิชาพยาธิวิทยา มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์" - (https://www.jhsph.edu/about/history/heroes-of-public-health/frederik-bang.html)

แบงทดสอบสมมติฐานด้วยการฉีดแบคทีเรียจากน้ำทะเลใส่พวกมัน ปรากฏว่า เลือดแข็งจับตัวเป็นก้อน เขาทดสอบอีกครั้งโดยต้มน้ำทะเลเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อนนำไปฉีดใส่เลือด และให้ผลไม่ต่างจากครั้งแรก

นั่นแสดงว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวของแมงดาทะเลมีความสามารถในการตรวจจับและกำจัดแบคทีเรียได้ไวมาก แม้แบคทีเรียจะตายไป เหลือเพียงสารพิษ (Endotoxin) ก็ยังตรวจพบอยู่ดี

ศึกษาการทำงานของเม็ดเลือดขาวได้ที่: Cells at work เซลล์ขยันพันธุ์เดือด
 

แบงตีพิมพ์ผลงานของตัวเองในปี 1956 ในชื่อ “A Bacterial Disease Of Limulus Polyphemus” และตั้งชื่อโปรตีนบนเม็ดเลือดขาวที่เขาสกัดได้ว่า Limulus amebocyte lysate หรือเรียกสั้นๆว่า LAL

ในอดีต นักวิทยาศาสตร์ทดสอบคุณภาพและความเป็นพิษของวัคซีนโดยการฉีดใส่กระต่าย แล้วเฝ้าดูอาการของมัน

แต่หลังจากค้นพบโปรตีน LAL เพียงแค่นำไปทดสอบกับวัคซีนหรือยาในห้องทดลอง เราก็สามารถทราบแทบจะทันทีเลยว่า วัคซีนหรือยานั้นมีคุณภาพหรืออาจเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์มากน้อยเพียงใด

หลังจากนั้น แบงทำการวิจัยร่วมกับเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ชื่อ แจ็ค เลวีน เพื่อหาวิธีที่เป็นมาตรฐานในการสกัดโปรตีน LAL ออกมาจากเลือด ใช้เวลาพัฒนากระบวนการมากกว่า 15 ปี จึงจะเป็นผลสำเร็จ

 

- กำเนิดธุรกิจพันล้าน –

ปลายทศวรรษที่ 1970 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา รับรองให้ใช้ชุดทดสอบจากโปรตีน LAL แทนการทดสอบกับกระต่าย เพราะนอกจากจะปลอดภัยแล้วยังง่ายต่อการใช้งานอีกด้วย ทำให้เกิดความต้องการใช้งานที่สูงมาก

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า LAL สกัดได้จากสัตว์ และแมงดาทะเลก็ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงน่ารักน่ากอด พวกมันจึงถูกล่าอย่างหนักโดยปราศจากความสงสาร

ในปีหนึ่ง มีแมงดาทะเลถูกจับขายให้แก่บริษัทผู้ผลิตชุดทดสอบนับแสนๆตัว หลังลากเข้าโรงงานแล้ว พวกมันจะถูกทำความสะอาด กำจัดเพรียงบนตัว แล้วนำไปแขวนบนรางยาวเพื่อเจาะดูดเอาเลือดออกมาใส่ขวด

นิตยสาร The Atlantic อ้างว่า ปริมาณเลือดแมงดาทะเลเพียง 1 ควอร์ต สนนราคาอยู่ที่ 15,000 เหรียญ ส่วนชุดทดสอบ LAL 1 แพคเกจ ราคา 1,000 เหรียญ

ในหนึ่งปีจะมีการตรวจหา Endotoxin ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ ถึง 70 ล้านการทดสอบ ส่งผลให้ธุรกิจ “รีดเลือด” ฟันกำไรปีละหลายร้อยล้านเหรียญ

ประมาณการว่า มีแมงดาทะเลราว 400,000 ตัว ถูกจับเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตยา หลังถูกดูดเลือดแล้ว พวกมันจะถูกปล่อยกับคืนสู่ธรรมชาติ และดำรงชีวิตต่อไป เพราะสามารถผลิตเลือดได้ใหม่เหมือนมนุษย์

คำถามคือ พวกมันกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมจริงหรือ?

 

- เลือดสด VS เลือดสังเคราะห์ –

การลดลงของจำนวนประชากรแมงดาทะเล สืบเนื่องมาจากการธุรกิจการประมงในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึง ต้นศตวรรษที่ 20 ที่เวลานั้นมีการล่าสัตว์ทะเลอย่างหนักเพื่อใช้เป็นอาหารและใช้ในการปศุสัตว์

และช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 แมงดาทะเลถูกนำไปเป็นเหยื่อสำหรับจับปลาไหลและหอยทากทะเล

"การล่าประมงอย่างหนักในศตวรรษที่ 19-20" - (https://www.fisheries.noaa.gov/new-england-mid-atlantic/commercial-fishing/brief-history-groundfishing-industry-new-england)

สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตยา พวกเขาดูดเลือดของแมงดาทะเลไปใช้ราว 30% ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ แต่ถึงกระนั้น พวกมันจำนวนหนึ่งก็ไม่รอด

“แมงดาทะเลราว 10-25% จะตายภายในสามสี่วันหลังถูกดูดเลือดออกไป” วิน วิลสัน กล่าว เขาเป็นนักสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัย นิว แฮมเชียร์ และศึกษาผลกระทบของธุรกิจค้าเลือดแมงดาทะเลมาระยะหนึ่งแล้ว

"พวกเขาต้องแทงเข็มผ่านเมมเบรนตรงเข้าสู่หัวใจของมัน ทำให้อาจไปขัดขวางการบีบตัวของหัวใจได้"

วิลสันและทีมพบว่า แมงดาทะเลที่เลือดหายไป 30% จะมีร่างกายอ่อนแอ ตอบสนองได้ช้า โดยเฉพาะตัวเมียที่ส่งผลให้วางไข่ได้น้อยลง

มีผู้ประเมินไว้ว่า ประชากรแมงดาทะเลในน่านน้ำสหรัฐอาจลดลงถึง 30% ในอีก 40 ปี ข้างหน้า ทำให้ผลิตชุดทดสอบเพื่อตรวจหา Endotoxin ในอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ และแน่นอนว่าจะส่งผลร้ายต่อมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"กระบวนการล่าแมงดาทะเลเพื่อใช้ในการผลิตยาและวัคซีน ตั้งแต่ต้นจนจบ"

ข่าวดีคือ มีนักวิทยาศาสตร์พยายามสังเคราะห์เลือดแมงดาทะเลเทียม เพื่อใช้ในการทดสอบกับยา โดยเฉพาะ Jeak Ling Ding นักชีววิทยาที่สามารถคัดลอกยีนที่ผลิต “Factor C” ซึ่งเป็นส่วนจับเพาะของโปรตีน LAL ที่ใช้ในการตรวจจับ Endotoxin

แต่โรงงานหลายแห่งยังคงต่อต้านการใช้ Factor C สังเคราะห์ เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย และเหตุผลทางธุรกิจ

“เราก็ยังคงวิจัยกันต่อไปค่ะ และหวังว่าอุตสาหกรรมการผลิตยาทั่วโลกจะหันมาใช้เลือดสังเคราะห์ เพื่อเซฟชีวิตแมงดาทะเลมิให้สูญพันธุ์”

Jeak Ling Ding อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยนานาชาติสิงคโปร์ ผู้สังเคราะห์ Recombinan factor c ได้เป็นคนแรก - (http://www.dbs.nus.edu.sg/staff/djl.htm)

ในปี 2016 มาตรฐานตำรายาแห่งสหภาพยุโรป ได้กำหนดให้ใช้เลือดสังเคราะห์ในการทดสอบหาแบคทีเรียในอุตสาหกรรมการผลิตยาทั่วโลก ขณะเดียวกัน ก็มีการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้ Recombinant factor C และ LAL ควบคู่ไปด้วย

ในสหรัฐอเมริกา มีการรณรงค์ให้ใช้เลือดสังเคราะห์แทนเลือดแมงดาทะเลอย่างต่อเนื่อง

เราได้แต่หวังว่า จะมีการบังคับใช้เลือดสังเคราะห์เป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในเร็วๆนี้ เพื่อรักษาจำนวนประชากรแมงดาทะเล และเพื่อไม่ต้องให้พวกมันสละชีวิตให้แก่ผลประโยชน์ของมนุษย์อีกต่อไป

 
 
 
 
ที่มา : 
ภาพนี้มีเรื่อง : Science & Tech

แปลบทความจาก: https://allthatsinteresting.com/horseshoe-crab-blood

บทความบางส่วนจาก: https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/72224/-scibio-sci-

Visitors: 1,384,461