นักบินอวกาศบอกเคล็ดลับการ Work from home

นักบินอวกาศบอกเคล็ดลับการ Work from home

วันนี้อ่านเจอบทความของ The New York Times ที่เขียนโดย Scott Kelly อดีตนักบินอวกาศของ NASA ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติอยู่เกือบ 1 ปี

ในสถานการณ์ที่ COVID-19 กำลังยกระดับในเมืองไทย เห็นว่าสิ่งที่คุณเคลลี่เขียนมีประโยชน์สำหรับคนที่ต้อง Work from home และทุกคนที่เก็บตัวอยู่ที่บ้าน เลยขอนำมาถอดความไว้ตรงนี้ครับ

 

การต้องเก็บตัวอยู่กับบ้านเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ตอนที่ผมต้องขึ้นไปอยู่ใน International Space Station เป็นเวลาเกือบปีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เวลาผมเข้านอนผมก็อยู่ที่ทำงาน พอผมตื่นขึ้นมาผมก็ยังอยู่ที่ทำงาน การทำงานอยู่ในอวกาศน่าจะเป็นเพียงอาชีพเดียวที่เราลาออกกลางคันไม่ได้จริงๆ

แต่ผมก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ที่เราต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

และนี่คือคำแนะนำสำหรับการใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว – จากคนที่เคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว

 

มีตารางเวลาที่ชัดเจน (Follow a schedule)

ตอนอยู่ในสถานีอวกาศ ผมมีตารางที่เข้มงวดมากตั้งแต่ตื่นยันเข้านอน บางวันผมต้องเดินท่องอวกาศเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ส่วนงานบางชิ้นก็ใช้เวลาแค่ 5 นาทีเช่นเช็คการเจริญเติบโตของดอกไม้ที่เราทดลองปลูกในอวกาศ

คุณจะพบว่าการมีแผนการจะช่วยให้คุณและครอบครัวปรับตัวกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนไปได้ หลังจากที่ผมเดินทางกลับมายังโลก ผมอดคิดถึงชีวิตที่มีแบบแผนในอวกาศไม่ได้

 

แต่ก็ต้องคุมจังหวะให้ดี (But pace yourself)

ถ้าคุณใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในที่เดียวกันเป็นเวลาหลายเดือน งานมักจะเทคโอเวอร์ทุกอย่างถ้าคุณปล่อยไปตามยถากรรม ตอนที่อยู่ในอวกาศผมตั้งใจใช้ชีวิตแบบผ่อนหนักผ่อนเบาเพราะผมรู้ว่าผมต้องอยู่แบบนี้ไปอีกสักพัก – ซึ่งก็ไม่ต่างกับสถานการณ์ของพวกเราในตอนนี้

อย่าลืมให้เวลากับกิจกรรมสนุกๆ ผมมักจะมีนัดดูหนังกับเพื่อนนักบินอวกาศพร้อมกับขนมนมเนยครบเซ็ท ผมได้ดู Game of Thrones จนจบสองรอบเลยนะจะบอกให้

อย่าลืมเข้านอนให้เป็นเวลาด้วย นักวิทยาศาสตร์ของนาซ่าได้ศึกษาพฤติกรรมการนอนของนักบินอวกาศและพบว่าคุณภาพการนอนส่งผลต่อความเฉลียวฉลาด สภาพอารมณ์และความสัมพันธ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประกอบภารกิจบนอวกาศหรือการทำงานอยู่ที่บ้าน

 

ออกไปข้างนอกบ้าง (Go outside)

หนึ่งในสิ่งที่ผมคิดถึงมากที่สุดตอนอยู่ในอวกาศคือการได้ออกไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ หลังจากต้องเก็บตัวอยู่ในพื้นที่แคบๆ เป็นเวลาหลายเดือน ผมเริ่มทุรนทุรายที่จะได้สัมผัสกับธรรมชาติ – สีเขียวของต้นไม้ใบหญ้า กลิ่นดินกรุ่นๆ และไออุ่นจากแสงอาทิตย์ การทดลองปลูกดอกไม้ในอวกาศกลายเป็นงานที่มีความหมายมากกว่าที่ผมคิด

เพื่อนนักบินของผมมักเปิด “เสียงของโลก” ให้ผมฟังซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงนกร้อง เสียงพุ่มไม้ในสายลมหรือแม้กระทั่งเสียงหึ่งๆ ของยุง เสียงเหล่านี้ทำให้ผมได้รู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน แม้บางครั้งผมจะเผลอตบหูเพราะนึกว่ามียุงมาบินใกล้ๆ ก็เถอะ

สำหรับนักบินอวกาศ การออกไปข้างนอกยานนั้นเป็นเรื่องอันตรายและต้องเตรียมตัวอย่างเข้มข้น ดังนั้นผมจึงรู้สึกดีที่แม้ขณะนี้เราจะตกอยู่ในสถานการณ์โรคระบาด แต่ผมก็ยังเดินออกจากบ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องใส่ชุดนักบินอวกาศ

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการใช้เวลาท่ามกลางธรรมชาตินั้นเป็นคุณต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจเช่นเดียวกับการออกกำลังกาย คุณไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายวันละสองชั่วโมงครึ่งเหมือนนักบินอวกาศหรอก แต่การได้ได้ออกกำลังกายวันละหนึ่งครั้งควรจะเป็นส่วนหนึ่งในตารางของคุณ ขอแค่อย่าลืมที่จะอยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตรก็พอ

 

คุณต้องมีงานอดิเรก (You need a hobby)

เมื่อคุณถูกจำกัดบริเวณคุณจำเป็นต้องมี “พื้นที่ปลดปล่อย” ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน

หลายคนแปลกใจที่รู้ว่าผมเอาหนังสือไปอ่านในอวกาศด้วย การได้ดำดิ่งอยู่ในหนังสือกระดาษโดยไม่มีเสียง notifications มากวนใจนั้นเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก ร้านหนังสือเล็กๆ หลายร้านเริ่มมีบริการส่งหนังสือตามบ้านหรือไปรับหนังสือได้ที่ร้าน ซึ่งแปลว่าคุณสามารถช่วยซัพพอร์ตธุรกิจในละแวกบ้านคุณแถมยังได้พักสายตาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

คุณยังฝึกเล่นเครื่องดนตรีได้อีกด้วย (ผมเพิ่งสมัครคลาสสอนกีตาร์ออนไลน์) ลองทำงานฝีมือหรืองานศิลปะ นักบินอวกาศล้วนจัดเวลาให้กับกิจกรรมเหล่านี้กันทั้งนั้น ลองดูวีดีโอที่นักบินอวกาศ Chris Handfield ร้องและเล่นคัฟเวอร์เพลง Space Oddity ของ David Bowie ดูก็ได้

 

เขียนไดอารี่ (Keep a journal)

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่นาซ่าศึกษาผลของการ isolation ที่มีต่อมนุษย์ และเรื่องน่าประหลาดใจอย่างหนึ่งที่พวกเขาค้นพบคือประโยชน์ของการจดบันทึกประจำวัน

ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผมขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในอวกาศ ผมแบ่งเวลามาเขียนบันทึกประสบการณ์ของผมเกือบทุกวัน ถ้าคุณพบว่าตัวเองแค่จดสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันแล้วมันค่อนข้างซ้ำซาก ลองเปลี่ยนไปเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่คุณรู้สึกผ่านสัมผัสทั้งห้าหรือเกี่ยวกับความทรงจำของคุณดู แม้ว่าสุดท้ายแล้วคุณจะไม่ได้ตีพิมพ์หนังสือเหมือนที่ผมทำ การเขียนไดอารี่จะช่วยให้คุณรับรู้ประสบการณ์จากอีกมุมมองหนึ่งและในวันข้างหน้ามันจะช่วยให้คุณหันกลับมามองช่วงเวลาสำคัญนี้ว่ามันมีความหมายต่อชีวิตคุณอย่างไร

 

ให้เวลากับคนที่คุณรัก (Take time to connect)

แม้ว่าผมจะมีภาระมากมายของการเป็นผู้บัญชาการสถานีอวกาศ แต่ผมก็ไม่เคยพลาดโอกาสที่จะทำ video conference กับคนในครอบครัวและกับเพื่อนฝูง นักวิทยาศาสตร์พบว่าการอยู่อย่างโดดเดี่ยวนั้นไม่เพียงส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อภูมิคุ้มกันร่างกายด้วย

เทคโนโลยีช่วยให้การติดต่อสื่อสารกันง่ายดายแค่ปลายนิ้ว ดังนั้นการให้เวลากับการพูดคุยกับคนสำคัญของคุณทุกวันนั้นเป็นเรื่องที่สุดคุ้ม ใครจะไปรู้ มันอาจจะช่วยให้ร่างกายของคุณต่อสู้ไวรัสได้ดีขึ้นก็ได้

 

ฟังคนที่ควรฟัง (Listen to experts)

ผมได้เรียนรู้ว่าปัญหาส่วนใหญ่ในชีวิตไม่ใช่ rocket science (rocket science = “วิทยาศาสตร์ในการขับเคลื่อนจรวด” เป็นสำนวนอังกฤษที่แปลว่าเรื่องที่ยากและซับซ้อนเกินกว่าที่คนธรรมดาจะเข้าใจได้)

แต่เมื่อใดก็ตามที่ปัญหานั้นเป็น rocket science เราก็ควรถามคนที่เป็น rocket scientist

การใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศฝึกให้ผมเชื่อฟังคำแนะนำของคนที่มีความรู้เรื่องนั้นดีกว่าผม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาตร์ วิศวกรรม หยูกยา หรือดีไซน์อันซับซ้อนของสถานีอวกาศที่ทำให้ผมยังมีชีวิตอยู่ได้

ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ เราต้องหาความรู้จากคนที่รู้จริงและฟังพวกเขาอย่างตั้งใจ โซเชียลมีเดียและสื่อที่ไม่มีการตรวจสอบมักจะแพร่ข้อมูลเท็จ ไม่ต่างอะไรกับการจับมือที่แพร่ไวรัส เราจึงควรฟังแต่คนที่ควรฟังอย่าง WHO และ Johns Hopkins Coronavirus Resource Center

 

เราล้วนเชื่อมโยงกัน (We are all connected)

เมื่อมองจากอวกาศ โลกนี้ไม่มีพรมแดน การระบาดของไวรัสโคโรน่าแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เรามีเหมือนกันนั้นทรงพลังกว่าสิ่งที่แบ่งแยกเรามากมายนัก เราทุกคนเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก และยิ่งเราร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาได้ดีเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสรอดมากขึ้นเท่านั้น

หนึ่งในผลข้างเคียงจากการที่ได้มองโลกจากอวกาศ – อย่างน้อยก็สำหรับผม – คือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่น แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายอย่างที่เราทำได้ ผมเห็นคนที่สอนหนังสือเด็กผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ เห็นคนบริจาคเงินและสละเวลาให้กับองค์กรการกุศล และเห็นคนที่ช่วยเป็นธุระให้กับคนเฒ่าคนแก่และเพื่อนบ้านที่สุขภาพไม่แข็งแรง ทุกคนได้ประโยชน์กันหมดไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกช่วยเหลือหรือตัวอาสาสมัครเอง

 

ที่มา : anonatawong.com - ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือพิมพ์ The New York Times: I Spent a Year in Space, and I Have Tips on Isolation to Share by Scott Kelly

Visitors: 1,429,837