กรณีศึกษา การจัดการ COVID-19 ของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน

กรณีศึกษา การจัดการ COVID-19 ของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน

 

 

ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังค่อยๆ คลี่คลายในจีนตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศนอกจีน กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม  

ซึ่งถ้าไม่นับประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาที่สถานการณ์เริ่มรุนแรงก็มี เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยง

เนื่องจากมีการติดต่อกับประเทศจีนในหลายๆ ด้าน

 

 ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ณ วันที่ 10 มีนาคม

 

เกาหลีใต้ พบผู้ติดเชื้อ 7,513 คน เสียชีวิต 54 คน รักษาหาย 247 คน

ญี่ปุ่น พบผู้ติดเชื้อ 530 คน เสียชีวิต 9 คน รักษาหาย 101 คน

ไต้หวัน พบผู้ติดเชื้อ 45 คน เสียชีวิต 1 คน รักษาหาย 15 คน

 

จะเห็นได้ว่าแม้ประเทศเหล่านี้จะไม่ได้อยู่ห่างกัน แต่กลับมีตัวเลขจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

 

 

ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของรัฐบาลในแต่ละประเทศที่ออกมาเพื่อจัดการกับสถานการณ์นี้

 

เริ่มจากเกาหลีใต้ ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเกาหลีเริ่มรุนแรงในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายที่ 31 ซึ่งเป็นคุณป้าวัย 61 ปี

ก่อนจะกลายเป็นปรากฏการณ์ Super Spread จนทำให้มีผู้ติดเชื้อหลายพันคนตามมา แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยในเกาหลีใต้จะยังมีอัตราที่สูงแต่กลับส่งสัญญาณที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลง

 

แม้ว่าในช่วงแรกของการระบาด รัฐบาลเกาหลีใต้จะได้รับเสียงวิจารณ์จากประชาชนว่ายังไม่จริงจังกับเรื่องนี้เท่าที่ควร แต่เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น รัฐบาลกลับสามารถยกระดับสู่การป้องกันขั้นสูงสุด

 

โดยอนุมัติงบประมาณเกือบ 8 แสนล้านบาท เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคหนึ่งในมาตรการที่น่าสนใจคือ การตั้งจุดตรวจโรคโควิด-19 ฟรี

โดยเฉพาะจุดตรวจที่เป็นแบบไดรฟ์-ทรู เพื่อลดภาระของโรงพยาบาลและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เนื่องจากไม่ต้องลงจากรถและใช้เวลาประมาณ 10 นาทีเท่านั้น ลองคิดดูว่าถ้าเราต้องขับรถไปจอดที่โรงพยาบาล เดินลงมากรอกประวัติ รอคิวนัดพบหมอเพื่อตรวจหาเชื้อ ตรวจเสร็จรอฟังผล

 

เกาหลีใต้ทำทุกขั้นตอนให้เหลือเพียงเปิดกระจกรถ ตรวจหาเชื้อ และรอผล 10 นาที

 

 

เรื่องนี้ทำให้ทางการสามารถระบุตัวผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง โดยมีผู้เข้ารับการตรวจถึง 15,000 รายต่อวัน ซึ่งนี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีการให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการดูแลตัวเอง หรือสถานการณ์ของการระบาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ตื่นตระหนกจนเกิดการกักตุนสินค้าและให้ความร่วมมือในการลดกิจกรรมนอกบ้าน 


งานอีเวนต์คอนเสิร์ตประกาศยกเลิก โรงเรียนและมหาวิทยาลัยประกาศเลื่อนการเปิดเทอม ที่สำคัญคือ มีการแจกหน้ากากอนามัยตามสถานีรถไฟ รวมถึงจัดเตรียมเจลล้างมือตามจุดต่างๆ อย่างทั่วถึง


 ในขณะเดียวกันสำหรับสถานการณ์ในญี่ปุ่น ที่แม้ว่าจะไม่ได้มียอดผู้ติดเชื้อสูงเท่าเกาหลีใต้แต่ประชาชนกลับไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล รวมถึงมองว่าตัวเลขนี้ต่ำเกินกว่าความเป็นจริง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเป็นห่วงภาคการท่องเที่ยว รวมถึงกลัวว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อการจัด Tokyo Olympic 2020 ในเดือนกรกฎาคม ทำให้ออกมาตรการห้ามนักท่องเที่ยวจากจีนล่าช้าเกินไป และอาจส่งผลต่อการไม่ตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างจริงจัง

 

 

โดยที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่าสามารถรองรับผู้ที่ต้องการเข้ารับการตรวจเชื้อถึง 3,800 รายต่อวัน การแพร่ระบาดในญี่ปุ่นเริ่มรุนแรงขึ้น จากการจอดเทียบท่าเรือสำราญ Diamond Princess ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นถูกวิจารณ์อย่างหนัก ทั้งจากเรื่องการตรวจผู้ติดเชื้อ และความเข้มงวดในการกักตัวบนเรือ นอกจากนั้น ตอนนี้คนญี่ปุ่นยังต้องประสบกับปัญหาสินค้าขาดตลาด ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรค หรือแม้แต่กระดาษชำระ เนื่องจากมีการกักตุนสินค้า จากข่าวลือว่าสินค้าเหล่านี้จะขาดตลาดเพราะมีโรงงานผลิตในจีน ซึ่งความไม่พอใจเหล่านี้กำลังส่งผลให้มาตรการที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศออกมา ดูเหมือนจะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนไปเสียหมด อย่างล่าสุดที่มีการประกาศเลื่อนการเปิดเรียน ก็มีคนออกมาโวยวายว่าได้รับผลกระทบ เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นไม่คุ้นเคยกับการจ้างพี่เลี้ยง ที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ โครงสร้างและวัฒนธรรมของสังคมญี่ปุ่นเอง ซึ่งถือเป็นจุดเสี่ยงของสถานการณ์การแพร่ระบาด ทั้งจำนวนผู้สูงอายุกว่า 35 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 28% ของจำนวนประชาชนทั้งประเทศ ประกอบกับนิสัยการทำงานหนัก ทำให้แม้ว่าจะมีอาการป่วย หลายคนก็ยังมาทำงานตามปกติ

 

 

สำหรับประเทศที่น่าสนใจที่สุดใน 3 พื้นที่นี้ คงหนีไม่พ้น ไต้หวัน

เพราะแม้ว่าถูกรายล้อมด้วยประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงอย่าง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น แต่ยังสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างดีเยี่ยม จนได้รับเสียงชื่นชมจากทั้งประชาชน รวมถึงนานาประเทศ

 

 

เรื่องแรกคือ การตอบสนองที่รวดเร็ว โดยไต้หวัน เห็นแนวโน้มการระบาดในอู่ฮั่นตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม และเริ่มตรวจสอบผู้โดยสารที่เดินทางมาจากเมืองในบริเวณนั้น แม้ว่าในขณะนั้น เรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสจะเป็นเพียงข่าวลือในหมู่ประชาชน โดยยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้น ไต้หวัน ยังถือเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มลดเที่ยวบินระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่ก่อนประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

 

 

สำหรับสถานการณ์อื่นๆ ในเมือง รัฐบาลก็สามารถจัดการได้เป็นอย่างดี มีการให้ข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป โดยเฉพาะเรื่องหน้ากากอนามัยที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญในหลายๆ ประเทศ รัฐบาลของไต้หวัน ก็มีการเพิ่มกำลังผลิต และจำกัดปริมาณการซื้อ ผ่านการกำหนดวันที่สามารถซื้อได้จากหมายเลขบัตรประกันสุขภาพ

 

 

มีการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ อย่างแอปพลิเคชันแผนที่ ซึ่งแสดงตำแหน่งร้านค้าพร้อมจำนวนหน้ากากอนามัยที่วางจำหน่าย

 

ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาด รัฐบาลไต้หวัน ก็ใช้งบประมาณเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือ SME เช่น การลดดอกเบื้ย และปล่อยเงินกู้แก่ภาคธุรกิจ อ่านมาถึงตรงนี้ จากมาตรการของแต่ละประเทศ ก็แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการจัดการตั้งแต่ต้นเหตุแบบไต้หวัน การยอมให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อดูมากจากการหว่านตรวจ แต่อาจทำให้เรื่องจบเร็วแบบเกาหลีใต้ หรือการเลี้ยงสถานการณ์ไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงแบบญี่ปุ่น ก็น่าติดตามว่าสุดท้ายแล้วบทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เพราะแม้ว่าเราจะสามารถควบคุมสถานการณ์ภายในได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภายนอกได้ โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบัน ที่ทุกพื้นที่บนโลกแทบจะเชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดน..

 

 

 

 

Visitors: 1,427,738