Zero Waste ขยะเหลือศูนย์ ใครเขาทำกัน

Zero Waste ขยะเหลือศูนย์ ใครเขาทำกัน 

ถ้าพูดถึง Zero Waste ผู้คนทั่วไปจะเข้าใจว่า เป็นการบริหารจัดการบ้านเมือง หรือการดูแลชุมชนทำให้ขยะหลงเหลือน้อยที่สุด

โดยการใช้เทคโนโลยีหรือใช้นวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนขยะ กำจัดขยะ

มีหลักอยู่ 3 R ( Reduce / Reuse / Recycle ) หรือประหยัด 3 แบบ ดังนี้

- Reduce คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือวิธีการ เพื่อลดการเกิดขยะ เช่น ไม่รับถุงพลาสติก ใช้ถุงผ้า ใช้ปิ่นโต สั่งอาหารพอดีกิน เป็นต้น

- Reuse คือการใช้ซ้ำ ใช้หลายรอบ เช่น การใช้กระดาษรียูส ใช้ขวดน้ำดื่มทำกระถางปลูก และที่ใกล้ตัว ที่บ้านผมจะเก็บยางรัดถุงไว้ทุกเส้น เมื่อสะสมได้จำนวนหนึ่ง ภรรยาผมก็นำไปให้แม่ค้าส้มตำหรือแม่ค้าขายกับข้าว เราไม่เสียอะไรแต่ได้มิตรภาพรอบๆตัว

- Recycle คือการเปลี่ยนขยะเป็นของใช้อย่างอื่น ซึ่งจะต้องแยกขยะเป็นพลาสติก กระดาษ โลหะ ขวดแก้ว และอื่นๆ แล้วส่งเข้าโรงงาน Recycle หรือร้านรับซื้อของเก่า

 

มีโรงแรมที่ต่างประเทศแห่งหนึ่ง ผู้จัดการโรงแรมพบว่า จะมีการทิ้งเศษผักและผลไม้ที่ลูกค้ารับประทานไม่หมดในทุกๆวัน

ผู้จัดการฯจึงตัดสินใจ "เปลี่ยน" แทนที่จะทิ้งเป็นขยะ แต่ได้นำเศษผักและผลไม้ไปเลี้ยงไส้เดือน แล้วไส้เดือนก็ผลิตปุ๋ยไส้เดือน ปุ๋ยที่ได้ก็นำไปปลูกผักหลายๆชนิดที่โรงแรมจำเป็นต้องใช้อยู่แล้ว

ผลที่ได้คือ โรงแรมลดค่าใช้จ่ายค่าทิ้งขยะ และไม่ต้องเสียเงินซื้อผักอีกต่อไป งานที่เปลี่ยนเศษผักและผลไม้ให้เป็นปุ๋ยชั้นดี โรงแรมก็ไม่ต้องจ่ายค่าแรง ไม่ต้องมีประกันสังคมให้กับไส้เดือน

ดูแลแค่ ความชื้น อุณหภูมิ และป้องกันมด หนู ศัตรูของไส้เดือน เท่านั้นเอง

 

กิจการที่ใช้แนวทาง Zero Waste ดำเนินธุรกิจ ยังสามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบ

แบบแรกคือ จัดการกับเศษวัสดุหรือขยะที่เกิดจากกระบวนการผลิตในกิจกรรมหลักของตัวเอง นำมาผลิตเป็นสินค้าได้อีกชนิดหนึ่ง อย่างเช่นโรงแรมที่ผมกล่าว และมีตัวอย่างในกิจการอื่นๆ ที่มีแนวทางแบบนี้ เช่น

- ร้านกาแฟ ที่นำกากกาแฟที่ชงให้ลูกค้าแล้ว นำกากไปเป็นวัสดุปลูกเห็ด

- โรงงานผลิตชิ้นส่วนเหล็ก ที่นำเศษเหล็กจากการผลิตชิ้นส่วน ไปผลิตเป็นของแต่งบ้าน เป็นโคมไฟ เป็นเฟอร์นิเจอร์

- ร้านเย็บเสื้อผ้า ที่นำเศษผ้ามาผลิตเป็นกระเป๋า

อีกรูปแบบคือ นำเศษวัสดุหรือขยะที่เกิดจากกระบวนการผลิตของผู้อื่น หรือสิ่งของที่ใช้ไม่ได้แล้ว นำมาผลิตเป็นสินค้าหลักของตัวเอง อย่างเช่นโรงงาน Recycle นั่นเอง ตัวอย่างในกิจการอื่นๆ ที่มีแนวทางแบบนี้ เช่น

- ผลิตภัณฑ์ จากยางรถยนต์เก่า เช่น ถังขยะ อ่างน้ำ กระถาง รองเท้าแตะ

- ผลิตภัณฑ์ จากกระป๋องบรรจุเครื่องดื่ม เช่น กระเป๋า กระเช้า หมวก ของเล่น หุ่นยนต์

ตามที่กล่าวมาในตอนนี้ แนวทาง Zero Waste ไม่ว่ากิจการจะเป็นรูปแบบไหนๆ ประโยชน์ที่ได้คือ การลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสินค้า

และที่สำคัญที่สุด เป็นการดูแลสังคม ช่วยลดมลพิษ ช่วยลดโลกร้อนได้ด้วย นะครับ

 

 

 

ที่มา : https://www.blockdit.com/articles/5da57f3199f4140cd7e7547f/#

Visitors: 1,198,928