luxury_brand

ลักชัวรี่ แบรนด์ คุณค่าที่เกิดจากความรู้สึก

สินค้าลักชัวรี่ใช้กลยุทธอย่างไร ใครคือกลุ่มเป้าหมายของตลาดลักชัวรี่ในปัจจุบัน และเราควรจะใช้จ่ายอย่างไรกับสินค้าลักชัวรี่ที่เราอยากได้

 

ตลาดลักชัวรี่เป็นอย่างไร

สินค้าลักชัวรี่ของคนคนหนึ่งอาจไม่ได้เป็นสินค้าลักชัวรี่ของอีกคนหนึ่ง เพราะสินค้าลักชัวรี่ตัดสินกับด้วยอารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ เป็นการสร้างความสุขทางใจ ความภาคภูมิใจที่ได้ครอบครอง และแสดงสถานะของผู้ครอบครอง

นอกเหนือจากความหรูหรามีราคาที่ผลักดันให้มีแรงปรารถนามีความอยากได้แล้ว อีกจุดสำคัญของสินค้าลักชัวรี่ก็คือความเป็น "ตำนาน" หรือ "Heritage" ที่ยิ่งเก่ายิ่งซับซ้อนก็ยิ่งดี เพราะทำให้ดูมีคุณค่า มีรากเหง้า และจะคงคุณค่าต่อไปไร้กาลเวลา

เพราะสินค้าลักชัวรี่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา แบรนด์พวกนี้จึงไม่ค่อยเซลล์ ยิ่งแพง ยิ่งหายาก ยิ่งเกิดความภูมิใจ ยิ่งอยากไขว่คว้า ในทางตรงกันข้ามสินค้าลักชัวรี่จะปรับขึ้นราคาเพื่อสร้างให้มีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ให้รู้สึกว่าแบรนด์มีระดับเหนือขึ้นไปกว่าเดิม และมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการทำรุ่น limited จำนวนจำกัด ขายเฉพาะช่วงสั้น ๆ หรือขายแบบเจาะจงสาขาร้านค้า หรือลูกค้า ก็จะยิ่งทำให้เกิดความปรารถนาอยากได้ และภูมิใจที่ได้ครอบครอง แม้มีแล้วก็ต้องมีอีก เป็นยิ่งกว่าความภักดีต่อแบรนด์ (brand loyalty) ทางการตลาด

กูรูในวงการลักชัวรี่ท่านหนึ่งเคยพูดไว้ว่า“ลักชัวรี่แบรนด์ที่ต้องการขยายตลาดจะพัฒนาลูกค้าระดับกลางให้ติดลมบน เพราะถ้าติดลมบนแล้วก็จะไม่เลิกเสพลักชัวรี่ ถึงตอนนี้รายได้ยังน้อย แต่รสนิยมสูงไม่เป็นไร ส่วนลูกค้าระดับล่างให้เขาสนุกสนานกับไลฟ์สไตล์หรูหรา เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้เขา เพราะหัวใจสำคัญคือต้องทำให้ลูกค้ามองขึ้นข้างบนตลอด เพราะถ้าแพงขึ้น หมายถึงคนใช้น้อยลง มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น”

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของแบรนด์ลักชัวรี่ คือ...

กลุ่มเป้าหมายของตลาดลักชัวรี่แบ่งตามพลังในการจับจ่าย และสภาพแวดล้อมที่มีผลด้านจิตใจที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. กลุ่ม Old Rich กลุ่มคนที่รวยมาแต่บรรพบุรุษ จึงพยายามฉีกตัวเองไม่ใช้ซ้ำกับคนอื่น กลุ่มนี้จะหันไปหางาน Tailor Made บ้าง กลุ่มนี้จะมีจำนวนไม่มากนักและเป็นกลุ่มที่เริ่มมีอายุ ผ่านการใช้ลักชัวรี่มามากจนคล้ายกับอิ่มตัวแล้ว

2. กลุ่ม Nuveau Rich หรือ New Rich คนรวยรุ่นใหม่ที่รวยด้วยตัวเอง กลุ่มนี้จะเป็นเจ้าของธุรกิจที่เติบโตมาจากธุรกิจส่งออก-นำเข้า การเงินและอสังหาริมทรัพย์ เป็นกลุ่มที่ซื้อลักชัวรี่แบรนด์ถี่ มีสังคมและมีเพื่อนมากจึงอาจมีการบริโภคแบรนด์ตามรสนิยมเฉพาะของกลุ่มสังคมที่ตนอยู่ร่วม เพื่อสร้างสถานะของตนเองในกลุ่มคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน

เมื่อถึงจุดหนึ่ง คนกลุ่มนี้จึงไม่ได้เลือกใช้เฉพาะลักชัวรี่แบรนด์รุ่นทั่วไปเพียงอย่างเดียว แต่จะเริ่มเป็นเหมือนกลี่มแรกที่แต่จะมองหาความแตกต่างผ่านลักชัวรี่แบรนด์หรือรุ่นที่มีความเฉพาะและแตกต่างจากรุ่นพื้นฐาน สินค้า Limited Editiion จึงสามารถเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ใช่ใครมีก็ได้ กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่มองไปยังลักชัวรี่แบรนด์ที่มีระดับราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

3. กลุ่ม HENRYs (High Earners, Not Rich Yet) เป็นกลุ่มที่มีความรู้เป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร มีรายได้ดีกว่าคนอื่น และมีกำลังทรัพย์ที่จะใช้ลักชัวรี่ โดยอาจเริ่มจากลักชัวรี่แบรนด์รุ่นยอมนิยมที่เป็นที่รู้จักหรือรุ่นที่เป็น signature ของแบรนด์ที่ใครก็รู้จักกันดีเพื่อแสดงถึงความสำเร็จของตัวในช่วงเริ่มต้นและเพื่อหน้าตาในการเข้าสังคม เมื่อมีความก้าวหน้าในหน้าที่และรายได้ก็จะขยับไปยังแบรนด์ที่หรูหราขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ลักชัวรี่แบรนด์ให้ความสำคัญในระยะยาว

3 กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ลักชัวรี่ข้างบน อยู่ในกลุ่มไหนกันครับ

กลุ่ม Old Rich และ กลุ่ม Nuveau Rich อาจเป็นกลุ่มที่ซื้อสินค้าลักชัวรี่ได้โดยไม่ต้องคิดมาก ถ้าเป็นการนำเงินที่เป็นผลตอบแทนจากทรัพย์สิน หรือเงินที่แบ่งจากกำไรบริษัทมาใช้ เพราะน่าจะมีทรัพย์สินอยู่พอสมควรแล้ว

สำหรับกลุ่ม Henry ส่วนมากน่าจะมีรายได้ที่แน่นอนในรูปของเงินเดือน กลุ่ม Henry ที่มักมีพฤติกรรมการบริโภคเกินระดับมาตราฐานของตนเอง และอาจก่อหนี้ระยะยาวขนาดใหญ่ไว้ด้วย เช่นการซื้อบ้านราคาแพง รถยนต์ราคาแพง และมักไม่ได้วางแผนการเงินสำหรับอนาคตเพราะคิดว่าตัวเองหาเงินได้สบาย และคิดว่าตัวเองจะมีเงินในอนาคต

 

ไม่ว่าสินค้าลักชัวรี่ สินค้าไฮเทค สินค้าแฟชั่น ส่วนมากก็ซื้อด้วยความรู้สึกมากกว่าความจำเป็นใช้ ซื้อมาแล้วก็มีความสุข แต่ก็คงเป็นความสุขแบบช่วงสั้นๆ พอมีของใหม่ออกมาก็อยากได้อีก

เมื่อสินค้าลักชัวรี่มีวิธีการทำตลาดที่เข้าถึงใจจนเกิดความอยากได้จน กลายเป็น "ของมันต้องมี" การใช้เงินซื้อสิ่งของต่างๆ เหล่านี้ ก็ควรซื้ออย่างมีวินัยการเงิน และไม่กระทบเป้าหมายทางการเงิน แต่หากใช้การซื้อด้วยการก่อหนี้ หรือกระทบแผนการออมเพื่อเป้าหมายชีวิต ก็คงต้องพิจารณาให้ดีก่อนซื้อเพื่อไม่ให้เดือนร้อนในอนาคต

 

หลักเกณฑ์เบื้องต้น อย่างง่ายๆ คือ

1. มีการแบ่งเงินออม ไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้ในปีนั้นหรือยัง

(ถ้าให้ดีควรมีการออมเงินไม่ต่ำกว่า 20% ของเงินรายได้ทั้งหมดในปีนั้น)

2. ถ้ามีหนี้ เงินชำระคืนหนี้สิน ไม่เกิน 40% ของรายได้รวมหรือเปล่า

3. มีสภาพคล่อง สำหรับ 3 เดือนหรือเปล่า

เมื่อหักเงิน 2 ก้อนนี้ก็เท่ากับคุณมีเงินรายได้เหลืออีก 70% เมื่อหักภาษีเงินได้ และค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ เงินส่วนที่เหลือก็สามารถแบ่งมาใช้จ่ายกับของประเภทที่มันต้องมี ได้ครับ

ตัวอย่างที่ 1 ถ้ามีรายได้ ปีละ 1.2 ล้าน (เดือนละ 1 แสน)

ก็ควรออมเงินด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่ 120,000 -240,000 บาทต่อปี

ถ้ามีหนี้ต้องผ่อนชำระค่างวด เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ ก็ควรจะไม่เกินปีละ 480,000 บาท (เทียบเท่ากับบ้านราคา 6 ล้านบาท ผ่อน 20ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.5%) ภาษีเงินได้เบื้องต้นประมาณ 30,000 บาท เท่ากับมีเงินเหลือใช้จ่ายรวม 470,000 บาทในปีนั้น หรือประมาณเดือนละ 40,000 บาท หักค่าใช้จ่ายต่างๆ เหลือเท่าไหร่ ก็สามารถนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายได้ตามความอยากได้ของเรา

ตัวอย่างที่ 2 ถ้ามีรายได้ ปีละ 3.6 ล้าน (เดือนละ 3 แสน)

เงินออม 20% เท่ากับ 720,000 บาทต่อปี ถ้ามีหนี้ผ่อนชำระ 40% ของเงินได้ ก็คือ 1,440,000 บาท (เทียบเท่ากับบ้านราคา 20ล้าน ผ่อน 20ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.5%) ภาษีเงินได้เบื้องต้นประมาณ 600,000 บาท เงินที่เหลือสำหรับใช้จ่ายต่างๆ เท่ากับ 840,000 บาทต่อปี หรือ 70,000 บาทต่อเดือน

เมื่อได้ยอดเงินสำหรับใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ก็ลองเทียบกับค่าใช้จ่ายจริงที่ใช้อยู่ว่ามีเหลือเท่าไหร่เพื่อใช้ซื้อของไม่จำเป็นเหล่านี้ เท่านี้คุณก็สามารถซื้อได้อย่างที่ใจต้องการ ได้ทั้งความสุขทางใจ และความสุขในอนาคต แต่ถ้าหักกลบแล้วไม่มีเหลือหรือถึงขั้นติดลบ ก็ควรจะพิจารณาลดค่าใช้จ่าย วางแผนลดภาระภาษี หารายได้เพิ่ม หรือลดความอยากและเลื่อนการซื้อออกไปก่อนครับ

หมายเหตุ: ตัวอย่างทั้งสองตัวอย่างเป็นการคำนวณโดยประมาณ และบทความนี้ขึ้นกับวิจารณญาณของแต่ละคนนะครับ

 

 

 

 

ที่มา : https://www.blockdit.com/fa.talk

Visitors: 1,429,830