การคัดแยกขยะมูลฝอย

การคัดแยกขยะมูลฝอยที่ทำได้จริง พร้อมสถานที่ส่งต่อขยะรีไซเคิล

การคัดแยกขยะ เป็นวิธีการหนึ่งในกระบวนการลดปริมาณขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นตัวการของปัญหามลพิษของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ขยะมูลฝอยที่เกิดจากการละเลยการคัดแยกขยะในชีวิตประจำวันของเรา เป็นห่วงโซ่หนึ่งที่นำพาให้คุณภาพของสิ่งแวดล้อม สุขภาพร่างกายและชีวิตโดยรวมแย่ลง วันนี้เรามาทำความรู้จักกับประเภทขยะ การคัดแยกขยะ และสถานที่ส่งต่อขยะรีไซเคิลกันเลย

ขยะมูลฝอย คืออะไร

“ขยะมูลฝอย (WASTE)  คือ สิ่งของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตและอุปโภคซึ่งเสื่อมสภาพจนใช้การไม่ได้หรือไม่ต้องการใช้แล้ว บางชนิดเป็นของแข็งหรือกากของเสีย (SOLID WASTE) มีผลเสียต่อสุขภาพ ทางกาย และจิตใจ เนื่องจากความสกปรกเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคทำให้เกิดมลพิษและทัศนะอุจาด”

ที่มา: พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

ผลกระทบจากขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกคัดแยกขยะ

ผลกระทบจากขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกคัดแยกขยะ ส่งผลเป็นวงกว้าง ทั้งผลกระทบต่อดิน น้ำ อากาศ สุขภาพของคนในพื้นที่นั้น และส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก ทั้งภาวะโลกร้อน สัตว์ และพืชทยอยสูญพันธุ์ 

ประโยชน์ของการคัดแยกขยะ

การคัดแยกขยะ เป็นประโยชน์และถือเป็นหัวใจหลักในการลดปริมาณขยะ เพราะการคัดแยกขยะ ทำให้ขยะถูกส่งต่อไปในกระบวนการที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น เช่น นำไปเผา นำไปรีไซเคิล นำไปย่อยสลาย ฯลฯ แต่ถ้าหากเราไม่คัดแยกขยะ จะทำให้ขยะแยกออกจากกันยาก กลายเป็นกองขยะขนาดใหญ่ที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะทำได้ง่าย ๆ โดยเริ่มต้นที่การรู้จักประเภทของขยะกันก่อน

4 ประเภทขยะที่ต้องรู้

1. ประเภทขยะอินทรีย์ 

ขยะอินทรีย์ เป็นขยะมูลฝอยที่ย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร เศษเนื้อสัตว์ เศษผลไม้ หญ้า กิ่งไม้ ฯลฯ  

สีถังขยะอินทรีย์ ขยะย่อยสลายได้: สีเขียว

การคัดแยกขยะอินทรีย์และการทำให้ย่อยสลาย

ประเภทของขยะอินทรีย์ หรือขยะที่ย่อยสลายได้นั้น เป็นประเภทขยะที่มีปริมาณมากที่สุดในประเทศ คิดเป็น 64% ของประเภทขยะทั้งหมด ถึงแม้ว่าระบบการจัดเก็บขยะมูลฝอยอินทรีย์และการนำไปใช้ประโยชน์ในบ้านเราจะยังไม่เอื้ออำนวยก็ตาม ดังนั้นหากบ้านใครสามารถทำได้ ควรช่วยกันทำการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อการกำจัด โดยสามารถทำได้เองที่บ้านดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 เตรียมถัง หรือภาชนะทรงสูง เจาะรูระบายน้ำโดยรอบถัง หลังจากนั้นใช้ถุงพลาสติกเจาะรูรอบใส่ลงไปในถัง แล้วจึงนำถังไปฝังดิน โดยให้ปากภาชนะอยู่เหนือพื้นดินเล็กน้อย
  • ขั้นตอนที่ 2 ใส่เศษอาหาร ผัก ผลไม้ สลับชั้นไปกับดิน หรือปุ๋ยคอก ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน
  • ขั้นตอนที่ 3 เมื่อใส่ขยะอินทรีย์สลับกับดิน หรือปุ๋ยคอกจนเต็มแล้ว ให้ปิดฝา แล้วรดน้ำทุก ๆ 7 วันเพื่อเป็นการระบายความร้อน เมื่อครบ 1 เดือนก็จะได้ปุ๋ยหมักสีดำ สามารถนำไปใช้ผสมดินเพื่อปลูกผักหรือใส่ในต้นไม้ได้ 

อ้างอิงจาก: กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

2.ประเภทขยะรีไซเคิล 

ขยะรีไซเคิล เป็นขยะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยการนำไปแปรรูปด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ และนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ กระป๋อง ฯลฯ เป็นหนึ่งประเภทที่สามารถทำการคัดแยกขยะได้ง่ายที่สุด ช่วยลดปริมาณขยะมูลฝฝอยภาพรวม และลดการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ 

สีถังขยะรีไซเคิล: สีน้ำเงิน

วิธีการคัดแยกขยะรีไซเคิลในชีวิตประจำวัน

แก้ว เช่น ภาชนะใส่อาหาร ใส่เครื่องดื่ม ขวดเครื่องสำอาง ขวดครีม ฯลฯ สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท

1. แก้วดี คือ ขวดแก้ว หรือบรรจุภัณฑ์และภาชนะแก้วที่ไม่มีรอยแตกร้าว หรือรอยบิ่น เมื่อนำเข้าโรงงานจะทำการล้างและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เรียกว่า “Reuse”

2. แก้วแตก คือ ขวดแก้วที่แตก หัก บิ่น จะถูกนำมาแยกตามสี (สีใส สีชา และสีเขียว) และเข้าเครื่องบดเพื่อหลอมใหม่ ซึ่งโรงงานจะใช้แก้วแตกเหล่านี้ประมาร 30-40% ในการผลิตแก้วใบใหม่ ช่วยลดการใช้พลังงานความร้อนเมื่อเทียบกับการผลิตแก้วจากวัสดุธรรมชาติแบบ 100% 

กระดาษ เป็นวัสดุที่ใช้พลังงานกว่า 1 ใน 5 ของโลกในการผลิตจากพลังงานที่ใช้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันมีกระดาษเพียงแค่ 60% เท่านั้นที่มีการคัดแยกขยะ และนำมาเป็นขยะรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ร้านของเก่ารับซื้อมี 7 ประเภท คือ กระดาษถ่ายเอกสาร กระดาษน้ำตาล (กระดาษลัง) กระดาษบิลเอกสาร กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษสมุด กระดาษหนังสือ (เป็นเล่ม หรือไม่เป็นเล่มก็ได้) และกระดาษสี

พลาสติก แบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท

1. พลาสติกคงรูปถาวร คือพลาสติกที่ผ่านกระบวนการขึ้นรูปแบบแข็งตัว ไม่สามารถหลอมกลับมาได้ เช่น แก้วน้ำ หรือจานชาม

2. พลาสติกที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ทางที่ดีควรแยกตามประเภทของพลาสติก 7 ประเภท สามารถดูที่สัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์

โลหะ ทั้งเหล็กหล่อ เหล็กรูปพรรณ เฟืองรถ นอต ตะปู ตะแกรง ท่อไอเสีย ปั๊มน้ำ เพลาท้ายรถ เหล็กสังกะสี กระป๋อง อลูมิเนียม ฯลฯ 

3.ประเภทขยะอันตราย 

ขยะอันตราย เป็นขยะที่มีการปนเปื้อนสารอันตราย วัตถุมีพิษ วัตถุกัดกร่อน วัตถุติดเชื้อและวัตถุไวไฟ เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ กระป๋องสเปรย์ ฯลฯ หากทิ้งรวมกับขยะทั่วไปจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ให้แยกออกจากขยะประเภทอื่น ๆ อย่างชัดเจน ใส่ถุงหรือกล่อง แล้วค่อยนำไปทิ้ง หรือเรียกใช้บริการเก็บขยะแทน

สีถังขยะอันตราย: สีแดง

4.ประเภทขยะทั่วไป 

ขยะทั่วไป เป็นขยะที่ไม่เข้าพวกกับกลุ่มขยะ 3 ประเภทแรก เป็นขยะที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ หรืออาจเป็นขยะที่ไม่คุ้มค่าในการนำมาแปรรูป เช่น ถุงอาหารเปื้อนแกง เศษผ้า ซองขนม เซรามิก กระเบื้องแตก ฯลฯ ให้แยกออกจากประเภทอื่น ๆ เพื่อนำไปทำพลังงานความร้อนใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้

สีถังขยะทั่วไป: สีเหลือง

คัดแยกขยะแล้วไปไหน?

วัดจากแดง รับขวดพลาสติกใสแข็งแรง ส่งไปทำเส้นใยเพื่อทอผ้าไตรจีวรได้ที่

วัดจากแดง ซอยวัดจากแดง ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โทร 066 159 9558

บมจ. ทีพีบีไอ รับถุงหูหิ้ว ฟิล์มพลาสติกหุ้มกล่องนม หุ้มขวดน้ำ ถุงขนมปัง ถุงน้ำตาล ส่งไปรีไซเคิลที่โครงการ “วน” ได้ที่

บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) 42/174 ม.5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210

บจก. เอ็นไวรอนพลาสต์ รับวัสดุโฟม แผ่นโฟม โฟมกันกระแทก ส่งไปรีไซเคิลที่

บริษัท เอ็นไวรอนพลาสต์ จำกัด พร้อมอ้าแขนรับ เพียงส่งไปที่ 29/1 หมู่ 9 ถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตก ต.คลองข่อย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 โทร 080 440 8788

บจก. ซีโร่ เวสท์ โยโล รับฝาขวด ขวดนม ขวดยาคูลท์ ขวดนมเปรี้ยว บรรจุภัณฑ์อาหาร บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบบาง ช้อน/ส้อม/มีดพลาสติก หลอด แก้วน้ำพลาสติก แก้วกาแฟพลาสติก และบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางพลาสติกแบบหลอดและรีฟิล

บจก. ซีโร่ เวสท์ โยโล 432 ถ. พรานนก-พุทธมณฑล แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน กทม. 10170 เบอร์โทรศัพท์ 061-5365514

โครงการ Precious Plastic Bangkok รับฝาขวดเพื่อนำไปทำแจกัน และกระถางต้นไม้ ส่งไปที่

โครงการ Precious Plastic Bangkok จักรพงษ์วิลล่า 396/1 ถ.มหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โครงการหลังคาเขียวฯ รับกล่องเครื่องดื่ม เพื่อนำไปผลิตเป็นแผ่นหลังคา

บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด (ระบุหน้ากล่องว่า ร่วมโครงการหลังคาเขียวฯ) 30/11 หมู่ที่ 11 วัดบางเสาธง ถนนบางนา–ตราด ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ 10570

โครงการผึ้งน้อยนักสู้ และแบมบูสคูล ให้นำขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ เช่น ถุงขนม หลอดยาสีฟัน ฯลฯ ทำให้สะอาด ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วใส่ลงนขวด PET ให้แน่นจนเต็ม ส่งต่อไปเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบ้านดินและอาคารเรียน

โครงการผึ้งน้อยนักสู้ 1/778 อาคารการ์เด้นโฮมพลาซ่าโซน 2 ถนนพหลโยธิน ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 12130

แบมบูสคูล (Bamboo School) 234 ซ.แมมแคท หมู่บ้านบ้องตี้ล่าง ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี 71150

มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน รับหลอดพลาสติกทั่วไป หลอดชานมไข่มุก (ไม่รับหลอดนมที่เป็นขนาดเล็ก) โดยการล้างให้สะอาด ตากให้แห้ง เพื่อนำไปทำไส้หมอนหนุนมอบให้กับผู้ป่วยติดเตียง

มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน เลขที่ 555 อาคาร1 ชั้น5 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร 02537-3308-10

เอี่ยมดีรีไซเคิล บริการจัดการขยะรีไซเคิลที่ผ่านการคัดแยกขยะแล้ว ในบริเวณเขตเทศบาลนครเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง โดยรายได้ 30% นำไปช่วยเหลือเด็กกำพร้า ผู้พิการ และเป็นสวัสดิการแก่ผู้เก็บขยะรายย่อย

โทรศัพท์: 093-132-9168

GEPP (เก็บ) ระบบเรียกรับขยะรีไซเคิลตามเวลา วันที่ และสถานที่ที่ต้องการ (ส่วนใหญ่คือพื้นที่กรุงเทพฯ) ติดต่อที่

Facebook: GEPP Thailand / Line ID: @GEPP / โทรศัพท์ 064-043-7166

 

“เราเป็นมนุษย์รุ่นสุดท้าย ที่สามารถช่วยโลกนี้ไว้ได้” LAURENCE OVERMIRE เพราะหากไม่เริ่มลงมือทำอะไรซักอย่าง พรุ่งนี้ก็อาจจะสายเกินไป การคัดแยกขยะ เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เราสามารถทำได้จริง ขยะที่แยกแล้วหลายประเภทสามารถนำไปขายได้ และปัจจุบันก็มีสถานที่รับขยะรีไซเคิลมากมายเพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ เพียงแค่เราลงมือทำที่บ้านของตัวเองในทุก ๆ วัน

 

 

ที่มา: adeq.or.th, office.bangkok.go.th/environment, Facebook: ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป

Visitors: 1,416,554