ขยะลอยกระทง
“เกือบ 1 ล้านในน้ำ กว่า 6 หมื่นบนฟ้า” สิ่งที่เหลือหลังเทศกาลบูชาพระแม่คงคา “ลอยกระทง”
อีกไม่กี่วัน “เทศกาลลอยกระทง” ที่เป็นประเพณีความเชื่อแต่โบราณว่าคือการบูชาพระแม่คงคา ก็จะเวียนมาถึงอีกแล้ว โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562แต่ ก็ต้องยอมรับว่า “กระทง” และ “โคมลอย” พระเอกและนางเอกในช่วงก่อนวันเทศกาล มักจะกลายเป็นผู้ร้ายและนางร้ายในฐานะ “ขยะและมลภาวะ” อยู่ทุกปีๆ เช่นกัน
ภาพข่าวเจ้าหน้าที่ออกลุยเก็บกวาด “ขยะกระทง” ที่ผลิตจากวัสดุหลากหลายชนิด ทั้งขยะกระทงวัสดุธรรมชาติ ขยะกระทงโฟม ตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ตลอดคืนวันลอยกระทง ไม่นับบางส่วนที่ตกค้างตามริมน้ำ หลุดลอยออกทะเล หรือจมลงสู่ใต้น้ำอีกมากมายที่รอเวลาส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศนแหล่งน้ำ และสัตว์น้ำในระยะยาว
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยสถิติกระทงในเขตกรุงเทพมหานครย้อนหลังตั้งแต่ปี 2551-2561 พบว่ามีปริมาณเฉลี่ย 8-9 แสนชิ้นต่อปี และการใช้กระทงทำจากวัสดุธรรมชาติมีแนวโน้มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 87- 94.7 โดยปี 2561 มีปริมาณขยะกระทงทั้งสิ้น 841,327 ใบ แบ่งเป็น กระทงวัสดุธรรมชาติ 796,444 ใบ และสอดแทรกด้วย กระทงโฟม 44,883 ใบ
ขณะที่บนท้องฟ้าหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคเหนือ กองทัพโคมยี่เป็งที่ใช้ลอยส่งเคราะห์ให้พ้นไปจากมนุษย์ แต่กลับเป็นการสร้างเคราะห์ให้กับชั้นบรรยากาศโลกแทน ในปี 2561 ที่ผ่านมา เพียงเชียงใหม่จังหวัดเดียว มีรายงานว่าการทำเรื่องขออนุญาตลอย โคมยี่เป็งราว 6 หมื่นใบ ไม่นับส่วนที่ไม่ได้ขออนุญาตอีกมหาศาล
จากโคมไฟที่สวยงามแต่เมื่อยามหมดไฟพิษภัยหาได้หมดตาม นอกจากขยะจากฟากฟ้านี้จะส่งผลกระทบต่อสายการบินต่างๆ ที่ต้องปรับเวลาเดินทาง จนถึงยกเลิกเที่ยวบินเส้นทางไป-กลับทางภาคเหนือนับร้อยเที่ยวในวันลอยกระทงแล้ว ควันไฟจากเชื้อเพลิงของโคมยังก่อฝุ่นพิษขนาดจิ๋ว PM 2.5 และ PM 10 ในปริมาณที่สูงถึง 1.7 เท่า ของช่วงเวลาปกติจากการวัดโดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยใจกลางเมืองเชียงใหม่ ไม่รวมถึงการนำปัญหาอัคคีไฟลงมาฝากชุมชนด้านล่างอีกบ่อยครั้ง
ด้วยสารพัดปัญหาดังกล่าว ทำให้เมื่อไม่นานนี้ได้เกิดกระแสดราม่า จากการที่เพจดังโลกโซเชี่ยล ได้เปิดประเด็นว่าปีนี้ควรจะตอบแทนคุณพระแม่คงคา ด้วยการไม่ลอยกระทง พร้อมแฮสแท็ก #งดลอยกระทงตอบแทนพระแม่คงคา จากนั้นได้มีการแชร์ต่อๆ กัน จนกลายเป็นความคิดเห็นต่างๆ นานา ทั้งไม่เห็นด้วยเพราะเป็นประเพณีสำคัญแค่ปีละครั้ง ขณะที่บ้างก็เสนอแนวคิดที่จะอนุรักษ์ประเพณีไว้ควบคู่ไปกับการลดขยะลงด้วยการใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ ไปจนถึงเห็นว่าควรเปลี่ยนจากวันลอยกระทงเป็นวันทำความสะอาดคลอง แม่น้ำต่างๆ แทน เป็นต้น
เพียงแค่นี้ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า ความสนุกเพียงไม่กี่ชั่วโมงแค่หนึ่งครั้งในรอบปี แต่เมื่อรวมกันแล้วได้กลายเป็นขยะที่มีพลังทำลายล้าง สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในน่านน้ำและบนน่านฟ้าจนกลายเป็นข้อถกเถียงได้มากมายเพียงใด แม้การลอยกระทงจะยังคงเป็นความสมัครใจที่จะ “ไป” หรือ “ไม่ไป” ของแต่ละคน และแนวโน้มของกระทงวัสดุธรรมชาติจะมีสัดส่วนสูงขึ้น แต่ “ขยะก็คือขยะ” ที่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรในการจัดเก็บ ต้องนำเข้าสู่กระบวนคัดแยกที่ถูกต้อง และใช้เวลาในการย่อยสลาย คำถามที่อยากชวนเพื่อนๆ คิดต่อก็คือ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ! ที่เราจะรวมพลัง “เปลี่ยนความสะดวกสบาย” อยากลอยต้องได้ลอย ให้เป็น “ความไม่สะดวกสบาย” ด้วยการหาวิธีบูชาพระแม่คงคาที่สร้างสรรค์ที่สุด เพื่อไม่ทำให้ปริมาณขยะวันลอยกระทงที่เกิดขึ้นเพียงคืนเดียว ต้องเป็นภาพจำที่ชัดเจนถึงความเจ็บปวดของสิ่งแวดล้อมสัตว์บก สัตว์น้ำ รวมถึงเพื่อนมนุษย์ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่กลับถูกลืมเลือนอย่างรวดเร็วเหมือนดังที่ผ่านมา #InconvenienceIsNecessary
ขอบคุณรูปและแหล่งข้อมูล https://tna.mcot.net/view/5dbaaff7e3f8e40b2f3aadf3 http://www.welovedantruat.com/19367 https://www.thaiquote.org/content/228322 https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/953731 |