อ่อนเพลียเรื้อรัง ต้องระวังไขมันพอกตับ

อ่อนเพลียเรื้อรัง ต้องระวังไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับคือภาวะไขมันสะสมในรูปแบบของไตรกลีเซอไรด์ในเซลล์ตับ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อย่างเช่น คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีรูปร่างอ้วน เป็นเบาหวาน มีไขมันในเลือดสูงและความดันโลหิตสูง

ภาวะไขมันพอกตับกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใดๆ แต่ในรายที่มีการอักเสบของตับร่วมด้วยอาจมีอาการ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เจ็บบริเวณชายโครงด้านขวา เบื่ออาหาร รู้สึกท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย แน่นท้อง อึดอัดท้อง น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หากปล่อยไว้ไม่รักษาภาวะไขมันพอกตับอาจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลทำให้เกิดภาวะตับแข็งและอาจลุกลามเป็นโรคมะเร็งตับจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ในระยะแรก ถ้าได้รับการรักษา ตับสามารถคืนสู่สภาพปกติได้ แต่หากปล่อยไว้จนเป็นตับแข็ง ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาทางยาที่ช่วยให้ตับคืนสภาพได้ หรือหากเป็นรุนแรงจนตับทำงานไม่ได้ ก็ต้องรอผ่าตัดเปลี่ยนตับอย่างเดียว

 

10 สัญญาณเช็กอาการไขมันพอกตับ พร้อมเคล็ดลับป้องกันไขมันเกาะตับ

ไขมันพอกตับ อาการเป็นอย่างไร

          ภาวะไขมันเกาะตับร้ายมาก ๆ ค่ะ ที่ต้องบอกว่าร้ายเพราะอาการของภาวะนี้ไม่ค่อยแสดงออกอย่างชัดเจน มีการดำเนินโรคยาวนานเป็นสิบปี จะตรวจพบว่ามีไขมันพอกตับก็ต่อเมื่อไปตรวจสุขภาพ เจาะเลือดแล้วพบค่าเอนไซม์ตับผิดปกติไป ทว่าถึงกระนั้นผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับอาจมีอาการไม่จำเพาะดังต่อไปนี้ให้พอเอะใจได้อยู่บ้าง

          1. อ่อนเพลียง่าย

          2. เบื่ออาหาร

          3. ปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา 

          4. ท้องอืด ท้องเฟ้อ 

          5. ท้องผูกหรือท้องเสียเป็นประจำ

          6. คลื่นไส้ อาเจียน

          7. น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว

          8. สีผิวบริเวณท้ายทอย รักแร้ และข้อพับดำคล้ำ หรือมีสีผิวไม่สม่ำเสมอ

          9. ตัวเหลือง ตาเหลือง คล้ายอาการดีซ่าน

          10. ในรายที่มีไขมันพอกตับเนื่องจากฤทธิ์ของสุรา อาจสังเกตตัวเองได้ว่าหลังจากดื่มสุราไปสักพัก จะเกิดอาการไม่สบายกาย เช่น ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวาหนักมาก คลื่นไส้ อาเจียน อึดอัด แน่นท้อง ซึ่งหากเกิดอาการแบบนี้ทุกครั้งที่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็พอจะเดาได้ว่าอาจเสี่ยงภาวะไขมันพอกตับเกือบจะ 100%

 

 



          อย่างไรก็ดี เราสามารถป้องกันภาวะไขมันพอกตับได้ด้วยตัวเราเองนะคะ โดยวิธีดังต่อไปนี้เลย

วิธีป้องกันไขมันพอกตับ

          1. รับประทานอาหารทุกมื้อ ไม่อดมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเน้นหลัก หนักเช้า เบาเที่ยง เลี่ยงเย็น คือกินมื้อเย็นให้น้อยกว่ามื้ออื่น ๆ

          2. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนจนเกินไป 

          3. หากอ้วนควรลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี โดยลดน้ำหนักลงประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อเดือน 

          4. พยายามหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้บรรจุกล่อง

          5. ลดการบริโภคไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันจากสัตว์ เนย กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม

          6. ลดพฤติกรรมกินจุบกินจิบ โดยเฉพาะพวกขนมขบเคี้ยว

          7. หลีกเลี่ยงการกินอาหารเค็มจัด มันจัด เปรี้ยวจัด หรือหวานจัด แต่ควรกินอาหารรสชาติกลาง ๆ 

          8. กินผัก-ผลไม้ให้มากขึ้น

          9. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวัละ 30 นาที

          10. พยายามไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมทั้งบุหรี่ด้วย

          11. หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอาหารเสริม

          12. สำหรับคนอ้วน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง ควรรักษาระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด กล่าวคือ ระดับน้ำตาลในเลือดควรน้อยกว่า 120 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ควรน้อยกว่า 160 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

          13. ตรวจเลือดเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปี

          14. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยต้องหลับให้ได้ 5-6 ชั่วโมงต่อวัน

          อย่างที่บอกว่าภาวะไขมันพอกตับเป็นภัยเงียบ มักไม่แสดงอาการกระโตกกระตากให้เราได้ทราบล่วงหน้าก่อน ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุดคือพยายามดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้ดี หากอ้วนก็ลดน้ำหนักให้สำเร็จ เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ รวมถึงหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีด้วยก็ดีค่ะ

 

ที่มา : https://health.kapook.com/view177141.html

       โรงพยาบาลรามคำแหง

Visitors: 1,213,764