Circular Economy
Circular Economy คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อโลกของเรา
Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน จะให้ความสำคัญกับ การจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (re-material) หรือนำมาใช้ซ้ำ (reuse) ซึ่งเราเคยได้ยินเรื่อง 3R อย่าง Reduce Reuse Recycle มาแล้ว แต่จะหมายถึงด้านผู้ใช้ ให้ลดใช้น้ำใช้ไฟ หรือเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแทน แต่ด้านธุรกิจล่ะ จะลดได้อย่างไร?
เดิม การผลิตสินค้า 1 ชิ้น จะคิดแบบเส้นตรง (Linear Economy) ก็คือ ใช้ทรัพยากร ผลิตสินค้า และย่อยสลาย“Take Make Dispose” ซึ่งถ้าโลกมีประชากรเพียง 1 ล้านคน เรื่องนี้อาจจะยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่โลกเรามีประชากร 7,600 ล้านคน อุณหภูมิเพิ่มขึ้น ทรัพยากรกำลังร่อยหรอ รวมถึงขยะที่กำจัดเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ ฝ่ายผู้ผลิตจะต้องลงมือทำ ไม่ใช่รอให้ผู้บริโภคเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว จึงเป็นที่มาของ Circular Economy ที่เปลี่ยน Cycle ของธุรกิจให้หมุนเวียนด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยอธิบายสั้นๆ ก็คือ เปลี่ยนจากขั้นตอนที่ต้องไป Take ทรัพยากรธรรมชาติ ให้เป็น Re-Material ซึ่งทรัพยากรก็เอามาจากตัวสินค้าที่ใช้แล้วนั่นเอง
Circular Economy แบบ 100% จะมีหลักการที่เยอะกว่าแค่การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เพราะใน 1 Supply Chain หากเปลี่ยนขั้นตอนใด ขั้นตอนหนึ่ง จะส่งผลกระทบทั้งภายในและภายนอก มาดูกันว่าหลักของ Circular Economy มีอะไรบ้าง 1.วัตถุดิบถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด หลักข้อนี้สำคัญมากๆ เพราะสินค้าบางชนิดเมื่อไม่มีคนใช้แล้วกำจัดได้ยากมาก เช่น เครื่องซักผ้า ยางรถยนต์ ที่นอน และอีกนับไม่ถ้วน ธุรกิจที่ต้องการทำ Circular Economy ที่แท้จริงต้องคิดว่า หลังจากที่ผู้บริโภคหยุดใช้สินค้านั้นแล้ว สินค้านั้นจะสร้างคุณค่าอะไรได้อีกบ้างนอกจากทิ้งเป็นเศษขยะ และถึงแม้จะรีไซเคิลได้ แต่วิธีไหนบ้างที่จะใช้พลังงานในการรีไซเคิลน้อยที่สุด เป็นต้น ยกตัวอย่าง Apple ก็จะมีระบบ iPhone Upgrade Program ที่ให้ลูกค้ามาเปลี่ยนมือถือทุกปี ซึ่งมือถือที่ใช้แล้วก็จะถูกนำไปแยกชิ้นส่วน และนำมากลับมาใช้ใหม่ได้เกือบทั้งหมด หรือ Ikea ที่ให้คุณไปประกอบเองที่บ้าน เพื่อลดขั้นตอนการขนส่ง และประหยัดพื้นที่ หรืออีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ ‘น้ำทิพย์’ ที่เปลี่ยนขวดพลาสติกของพวกเขาให้ ย่อยง่ายขึ้น ประหยัดพื้นที่ลง การคิดเช่นนี้ผ่านการคิดมาแล้วว่า ขวดน้ำดื่มควรอยู่กับเราให้น้อยที่สุด เพื่อที่จะได้ถูกรีไซเคิลได้โดยเร็ว ฉะนั้นหลักการข้อนี้ ก็ไม่ต่างจาก Design Thinking ที่ต้องคิดถึง การนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ การผลิตให้เกิดผลกระทบเชิงลบนอยที่สุด วิธีการใช้สินค้า พฤติกรรมผู้บริโภค เป็นต้น 2.พลังงานที่นำมาใช้ ต้องมาจากทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ พลังงานก็เป็นทรัพยากรสำคัญในการผลิตสินค้า ฉะนั้นการคิดระบบไม่ใช่คิดแค่ว่าจะนำของกลับมารีไซเคิลอย่างไร แต่ต้องคิดด้วยว่า สามารถคิดระบบที่นำพลังงานกลับมาใช้ หรือใช้พลังงานน้อยที่สุด สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือ การเคลื่อนย้ายพลังงานมาใช้ในการผลิต เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียพลังงานในการขนส่งเพิ่มขึ้นด้วย หาทางใช้พลังงานที่มีมากในท้องที่ให้เป็นประโยชน์ 3.รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ Circular Economy จะต้องทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ใช่ว่าคิดค้นระบบการผลิตที่ดีมาก ผลิตสินค้าที่ Green สุดๆ แต่ต้องมีสัตว์บางชนิดต้องสูญพันธุ์ไป ยกตัวอย่าง ในปี 1850 ต้นไม้ใน นิว ยอร์ค นั้นระบาดไปด้วยตัวอ่อนของหนอนผีเสื้อ ตัวเมืองจึงนำนกกระจอกบ้านมาปล่อยเพื่อจำกัดมัน.. ได้ผล หนอนผีเสื้อลดลง แต่นกกระจอกขยายตัวอย่างรวดเร็ว กินผีเสื้อ ทำลายดอกไม้ และทำร้ายนกท้องถิ่นจนสูญพันธุ์ 4.อนุรักษ์วัฒนธรรมและชุมชน ในการผลิต หากต้องมีการใช้แรงงานในท้องถิ่น ธุรกิจนั้นก็ต้องยังอนุรักษ์วัฒนธรรมและความเชื่อของคนในพื้นที่ ไม่ใช่เข้ามาแล้วเปลี่ยนทุกอย่างตามอำเภอใจ ถึงแม้มันอาจจะดีในสายตาของคนทั่วไป แต่มันอาจไม่ใช่คำหรับคนท้องถิ่น 5.ไม่ทำร้าย ความเป็นอยู่และสุขภาพของทุกสปีซีส์ การปล่อยสารพิษ และของเสียที่ทำร้ายธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิต เป็นข้อห้ามเด็ดขาด หากมีต้องถูกเก็บและกำจัดด้วยวิธีที่ไม่สร้างผลเสียลูกโซ่ ยกตัวอย่างเช่น หากการผลิตสินค้าชนิดหนึ่งทำให้เกิดสารพิษ และวิธีจำกัดเดียวคือการเผาทำลาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดควันพิษ ทางแก้ไม่ใช่ไปเผาในที่ที่ไม่มีคน แต่เป็นการคิดค้นวิธีการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดสารพิษแทน 6.ไม่ได้วัดทุกอย่างด้วยตัวเลข แต่วัดด้วยคุณค่าทางจิตใจ ธุรกิจกับตัวเลขเป็นสิ่งคู่กัน แต่ในการสร้าง Circular Economy ไม่สามารถวัดทุกอย่างด้วยตัวเลขได้ คุณค่าบางอย่าง เช่น ความเชื่อ ศาสนา ความรู้สึก ของทั้งพนักงาน แรงงาน เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน 7.ระบบทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนได้ จะเห็นได้ว่า Circular Economy มีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากๆ และถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งล้มเหลว ก็ต้องมีวิธีการอื่นมารองรับ เพื่อให้ระบบยังหมุนเวียนต่อไปได้ ยกตัวอย่างเช่น Rubber Killer แบรนด์ที่ผลิตสินค้าจากยางในของรถยนต์ เมื่อมีคนรู้ว่ายางในสามารถทำอะไรได้บ้าง พวกเขาก็ถูกโก่งราคายางขึ้น หรือถ้าวันหนึ่ง รถยนต์เลิกใช้ยางแบบเดิม พวกเขาจะอยู่ได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้นในธุรกิจ ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : https://dailyplanet.climate-kic.org/seven-pillars-circular-economy/
แบรนด์ที่พยายามมีส่วนร่วมกับ Circular Economy Freitag : เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่โดดเด่นเรื่องนี้มากๆ โดยสินค้าที่สร้างชื่อเสียงของ Freitag คือ กระเป๋าสะพายข้างที่ทำจากผ้าใบของรถบรรทุก นอกจากจะใช้วัตถุดิบที่ได้จากสินค้าอื่นแล้ว พวกเขายังใส่ใจในขั้นตอนอื่นๆ อย่างการใช้น้ำฝนในการล้างผ้ายาง เป็นต้น โดยปัจจุบันถึงแม้ไลน์สินค้าของพวกเขาจะมีผ้าเพิ่มขึ้นมา แต่ Freitag ก็ยังรักษา DNA รักษาธรรมชาติไว้อยู่ Patagonia : เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่เน้นไปทางกิจกรรม Outdoor โดยพันธกิจของพวกเขาชัดเจนมาก คือการสร้างสินค้าที่ดีที่สุด ทำร้ายธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และใช้ธุรกิจในการสร้างแรงบันดาลใจในการช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สินค้าของพวกเขาจะทนเป็นอย่างมาก เพื่อลดการใช้ทรัพยากร โดย Patagonia จะมี The Worn Wear Program เพื่อซ่อมแซมชุดให้ใช้ต่อได้ และถ้าชุดนั้นไม่ไหวแล้วจริงๆ Patagonia จะเอาไปรีไซเคิลให้คุ้มค่าที่สุด Nike : การเป็นแบรนด์แฟชั่นและกีฬาอันดับหนึ่ง นั่นก็หมายถึงการใช้ทรัพยากรที่เยอะตามมา Nike จึงเริ่มการนำ Circlular Economy มาใช้ในขั้นตอนการผลิตสักพัก โดยตอนนี้ 71% ของเสื้อผ้า และรองเท้า ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล และดีไซน์เนอร์ระดับโลกก็เลือกวัตถุดิบคุณภาพสูงจากเศษวัตถุดิบเหลือใช้ในโรงงาน แม้แต่ Adidas เองก็ผลิตรองเท้าผ้าใบที่ทำจากขยะพลาสติกในมหาสมุทรเช่นกัน H&M : เป้าหมายของ H&M ชัดเจนมาก ว่าต้องการให้ธุรกิจของพวกเขาเป็น Circular 100% และนำเสื้อผ้าใช้แล้วกลับมา Re-Material กลายเป็นเสื้อผ้าใหม่ในที่สุด โดยในปี 2013 H&M เปิดโอกาสให้คุณเอาเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วไปใส่กล่องที่ร้านได้ และ H&M สัญญาว่าจะคืนชีวิตใหม่ให้เสื้อผ้าพวกนั้น ถึงแม้แบรนด์เหล่านี้อาจจะยังไม่ได้ทำตามหลักทั้ง 7 ข้อ 100% แต่อย่างน้อยก็ลดการใช้ทรัพยากรไปได้เยอะ คงต้องหวังว่าคนรุ่นใหม่นี่แหละ ที่จะสามารถคิดธุรกิจที่เพื่อทำ Circular ตั้งแต่แรก Circular Economy กับ Street Food เมืองไทย 1.เปลี่ยนวัสดุให้ Green มากขึ้น การเปลี่ยนเช่นนี้ อาจกระทบต้นทุนในตอนแรก แต่หากร้านค้าตั้งใจทำจริง และบอกให้ผู้บริโภครู้ จะมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่เข้าใจ ในราคาที่เพิ่มขึ้น หรือสินค้าที่ลดลงเล็กน้อย 2.สนับสนุนให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม สมมุติซื้อข้าวกล่องทั่วไปราคา 40 บาท แต่ถ้าไม่เอาถุงพลาสติก ลด 1 บาท ถ้านำภาชนะมาเอง ลด 5 บาท หรือ ถ้านำกล่องที่ใช้มาคืน 10 กล่อง จะให้ข้าวฟรี 1 กล่อง เป็นต้น การทำเช่นนี้เป็นประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ร้านค้าให้คุณค่ากับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขนาดไหน
ปัจจุบันมีร้าน Street Food น้อยมากที่ทำแบบนี้ และถึงทำไปก็ไม่เป็นกระแสเท่ามีแม่ค้าหน้าตาดี หรือทำอาหารจานยักษ์ ที่มีคนแชร์ล้นหลาม ฉะนั้นหากคุณอยู่ในธุรกิจใดก็แล้วแต่ ที่สามารถลดการใช้ทรัพยากร หรือเปลี่ยนขั้นตอนให้โลกเราดีขึ้น ทำเถอะครับ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของคนรุ่นต่อไป
ที่มา : SCB EIC, ellenmacarthurfoundation และ anteagroup,Marketeer Online |