“มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ” จัด “พิธีสระเกล้าดำหัวตามประเพณีล้านนาโบราณ”หวังสืบสานวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าส่งต่อคนรุ่นหลัง
“มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ” จัด “พิธีสระเกล้าดำหัวตามประเพณีล้านนาโบราณ”
หวังสืบสานวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าส่งต่อคนรุ่นหลัง
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ จังหวัดเชียงราย จัดงาน “พิธีสระเกล้าดำหัวตามประเพณีล้านนาของจังหวัดเชียงราย ประจำปี ๒๕๖๒” เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนา ประเพณีอันทรงคุณค่าของคนไทยให้คงอยู่สืบไป
โดยมีคณะกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธี พร้อมนำคณะส่วนราชการ ประชาชน และภาคเอกชนเข้าร่วมพิธีรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม จำนวน ๓๖ คน จาก ๑๘ อำเภอ ในจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยกิจกรรมและการแสดงที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมและความเชื่อแบบล้านนาโบราณอย่างแท้จริง ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๒
ความงดงามและประณีตของประเพณีสงกรานต์แบบล้านนาโบราณ ถือเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติไทย สะท้อนให้เห็นถึงอารยธรรมอันดีงามที่สืบทอดมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯตระหนักถึงความสำคัญของการสืบสาน, อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม องค์ความรู้และประเพณีไทยให้คงไว้ ตอบสนองพระราชปณิธานของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่จะดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทยอันดีงาม อีกทั้งเป็นบ่อเกิดแห่งแรงบันดาลใจและการศึกษาให้แก่คนรุ่นใหม่โดยประยุกต์นำแบบแผนดั้งเดิมมาปรับให้กระชับและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และยังคงความหมายและคุณค่าไว้ครบถ้วน และนอกจากนี้ยังต้องการให้ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง สถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือ
โดยเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำหรับจัดงานพิธีต่างๆ รวมถึงงานต้อนรับอาคันตุกะระดับประเทศ และยังเคยได้รับรางวัล “Thailand Tourism Awards 2006” ประเภทรางวัลดีเด่นด้านแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนาของ จังหวัดเชียงราย
โดยบรรยากาศภายใน “พิธีสระเกล้าดำหัวตามประเพณีล้านนาของจังหวัดเชียงราย ประจำปี ๒๕๖๒” เริ่มด้วยการสรงน้ำพระพุทธรูปไม้โบราณ ๑๖ องค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีความงามตามแบบพุทธศิลป์ อีกทั้งเป็นโบราณวัตถุที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน ได้อัญเชิญมาให้ผู้คนได้สักการะบูชา ผ่านรางพญานาคอายุกว่าร้อยปีซึ่งบูรณะขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อคนที่มาร่วมงานรดน้ำ น้ำจะไหลไปตามรางพญานาคสู่ขันเงินใบใหญ่มีสายสิญฐ์โยงขึ้นไปถึงพระพุทธรูปให้น้ำซึมผ่านสายสิญจน์ไปจนถึงพระพุทธรูป อันหมายถึงการสรงน้ำพระพุทธรูป ซึ่งถือเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าอย่างนอบน้อมแสดงถึงความเคารพสูงสุด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเพณีล้านนามีความผูกพันกับพิธีการทางศาสนาเป็นหลักมาตั้งแต่สมัยก่อน
งานสระเกล้าดำหัวจึงเริ่มต้นด้วยพิธีสงฆ์ และการถวายเครื่องสักการะน้ำขมิ้นส้มป่อยหน้าพระแท่นพระสาทิสลักษณ์ของ สมเด็จย่า หรือ แม่ฟ้าหลวงของชาวล้านนา ก่อนที่กวีล้านนาได้เริ่มร่ายกะโลงล้านนา เพื่อแสดงความคารวะผู้อาวุโส หลังจากนั้นขบวนนางสงกรานต์ได้เชิญเครื่องคำนับเข้าสู่บริเวณพิธี ประธานในพิธี มอบน้ำขมิ้นส้มป่อย สิ่งมงคลตามความเชื่อโบราณช่วยชำระล้างสิ่งอัปมงคลทั้งหลาย พร้อมด้วยเครื่องคำนับ เพื่อคารวะผู้อาวุโสที่บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคม จำนวน ๓๖ ท่าน จาก ๑๘ อำเภอ ในจังหวัดเชียงราย จากนั้นผู้ร่วมงานทั้งส่วนราชการ ประชาชน และภาคเอกชน ได้ทะยอยกันเข้ารดน้ำและขอพรจากผู้อาวุโส เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีมงคลตามความเชื่อล้านนาโบราณ
ทั้งนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งหวังให้อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง เป็นศูนย์กลางในเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา โดยได้จัดงานด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้คนได้มาสัมผัสและช่วยกันอนุรักษ์ความงดงามของประเพณีล้านนาสืบต่อไป