โครงสร้างของ ERP

โครงสร้างระบบ ERP จะสามารถแบ่งออกเป็นระบบย่อยได้ 5 ระบบหลักๆ และในระบบนั้นๆ ก็จะประกอบด้วย
ฟังก์ชั่นแยกย่อยแตกต่างกันออกไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ระบบบริหารทรัพยากรการผลิต(MRP)

      ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรการผลิต หรือเรียกง่ายๆ ว่าระบบจัดการการผลิตสินค้าเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ ERP กลายเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการจัดการในโรงงานอย่างเป็นระบบ มีความละเอียดสูง โดยการจัดการทรัพยากรการผลิตจะถูกซอยย่อยออกเป็นส่วนต่างๆ เช่น

  • การวางแผนการผลิต
  • การจัดการวัตถุดิบและทรัพยากร
  • การตรวจสอบการขนส่งสินค้า
  • การจัดการคลังสินค้า

        ERP จะเป็นตัวรวบรวมข้อมูลทุกอย่างและจัดเก็บลงใน Database เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบที่ไหน เมื่อไหร่ ก็ได้ อีกทั้งยังมีความสามารถในการวิเคราะห์ (Analyze) ข้อมูล เพื่อส่งไปให้ฝ่ายขายหรือฝ่ายจัดซื้อ เพิ่มความเสถียรของการทำงาน และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรอีกด้วย

2.ระบบบริหารจัดการทรัพยากรการเงิน (FRM) 

        ความคุ้มค่าของธุรกิจย่อมขึ้นอยู่กับเม็ดเงินที่ไหลเวียนเป็นหลัก ERP เองก็เห็นจุดนี้สำคัญ จึงมีการเพิ่มระบบจัดการการเงินด้วย แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เพียงการเก็บข้อมูล ซื้อ ขาย แต่ยังมีการจัดการบัญชีที่แบ่งแยกหมวดหมู่ต่างๆ ออกจากกัน และสามารถตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดได้ด้วยการเรียกดูแค่ครั้งเดียว โดยจะเน้นหนักไปใน “ความคุ้มค่า” ของการลงทุน ว่าลงทุนในสินค้าตัวนี้ มากน้อยเกินไปหรือไม่ รวมค่าใช้จ่ายจิปาถะ น้ำไฟ แล้วได้กำไรมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะคำนวณเป็นต่อหน่วยการผลิต หรือคำนวณแบบองค์รวมก็ได้เช่นกัน 

3.ระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM)

        ขายดี ขายได้ หากอยากทราบว่าลูกค้าคนไหนมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าหรือบริการของเรา CRM คือคำตอบครับ เพราะระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า จะทำการ Track ข้อมูลต่างๆ และทำการคำนวณว่าบุคคลเหล่านี้กำลังสนใจสินค้า บริการแบบไหน โดยระบบ CRM อาจดำเนินการต่อไปเพื่อสนับสนุนการขาย เช่น การนำเสนอเฉพาะข้อมูลที่กลุ่มลูกค้านั้นๆ กำลังสนใจ (Remarketing) เพื่อทำให้เค้ากลายมาเป็นลูกค้าของเราในอนาคต

4.ระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (SCM)

        ห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain คือตัวกำหนดความก้าวหน้าโดยองค์รวมของธุรกิจ ระบบบริหารจัดการนี้จึงเน้นในการตรวจสอบและคาดคะเนว่า การผลิตของเรา มาก น้อย เกินไปอย่างไร และลูกค้ามีโอกาสจะซื้อสินค้าตัวไหนเพิ่มขึ้นในอนาคต ระบบจัดการห่วงโซ่อุปทานนี้จะเชื่อมโยงโดยตรงไปถึงระบบการจัดการทรัพยากรการผลิต เพื่อประเมินการบริหารจัดการทรัพยากรว่าดีแล้ว หรือต้องเปลี่ยนแปลงตรงไหนบ้าง ให้การผลิตสินค้าและบริการของเราเติบโตขึ้นได้ในอนาคต

5.ระบบบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (HRM)

        อีกส่วนสำคัญของระบบที่ขาดไม่ได้คือการจัดการบุคคลากรนั่นเอง ที่จะทำหน้าที่ประเมินบุคลากรในบริษัท ว่าทำงานได้มากน้อยแค่ไหน ตรงตามเป้าหมายหรือไม่ ผ่านทางการวัดผลจากฐานข้อมูลที่กำหนดไว้ ซึ่งในระบบอาจรวมไปถึงการตรวจสอบข้อมูลบุคลากรเพื่อการว่าจ้างพนักงานใหม่ เทรนพนักงาน ประเมินเงินเดือน ไปจนถึงการโยกย้ายหน้าที่ในฝ่ายต่างๆ ตามความเหมาะสม

 

Visitors: 1,406,221