วันคุ้มครองโลก

 
สิบกว่าปีที่ผ่านมา มาติน ฟาน เดอ บัลท์ (Martin van de Bult) นักพฤกษศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ประจำโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นคล้ายเข็มทิศศึกษาการปรับป่าในพื้นที่ และวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์พืช เพื่อพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพในดอยตุง
“ป่าที่ดีต้องหลากหลาย ก่อนจะปลูกป่าเราต้องรู้ก่อนว่าป่าดั้งเดิมของดอยตุงเป็นอย่างไร เราไปสำรวจมาทุกที่ที่ยังมีป่าเหลืออยู่ว่ามีชนิดใดบ้าง เราทำฐานข้อมูลพันธุ์พืชของดอยตุง มีมากกว่า 1,300 ชนิด ส่วนต้นไม้ใหญ่ในดอยตุงในฐานข้อมูลมี 700 กว่าชนิด” อาจารย์มาตินย้ำประโยคนี้ด้วยภาษาไทยชัดเจน
 
"ป่าดอยตุงอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 800-900 เมตร บริเวณนี้ดั้งเดิมเป็นป่าเบญจพรรณ เมื่อก่อนน่าจะมีต้นสักเยอะ เดี๋ยวนี้โดนตัดหมดแล้ว และจาก 900-1,000 เมตรขึ้นไปเป็นป่าดิบแล้ง ส่วนป่าหินปูนมีพันธุ์ไม้หลายชนิดที่หายากและเป็นป่าที่สมบูรณ์ที่สุดของดอยตุง เพราะป่าหินปูนชันมาก เดินยากมาก เลยไม่ค่อยถูกมนุษย์รบกวน มีการเจอพันธุ์ไม้ใหม่ของโลกสิบกว่าชนิดที่นั่น”
ฟังดูคล้ายเรื่องตลกร้ายแต่ก็เป็นเรื่องจริง ที่ป่าที่สมบูรณ์ที่สุดคือป่าที่มนุษย์เข้าถึงยากที่สุด ในขณะที่ป่าที่ถูกทำลายมากที่สุดคือป่า ที่อยู่ใกล้มือมนุษย์
 
"ส่วนมากที่ดอยตุงเป็นป่าฟื้นฟูอายุประมาณ 25-35 ปี ป่าที่สมบูรณ์มีน้อยมาก พื้นที่นี้ไม่มีใครรบกวนมาก เพราะต้นไม้ใหญ่ยังโอเคอยู่ แต่ว่ายังไม่สมบูรณ์นะ ยังฟื้นฟูอยู่"
 
"มีต้นไม้หลายแบบที่ผมอยากปลูก หนึ่งคือต้นไม้ที่โตเร็ว เพราะเราอยากมีป่าอย่างรวดเร็ว และเราต้องมีต้นไม้ที่โตเร็วเพื่อที่จะบังร่ม สองคือต้นไม้ที่โตช้า เพราะต้นไม้ที่อยู่ในป่าสมบูรณ์ส่วนมากเป็นต้นที่โตช้า สามคือต้นที่สัตว์ชอบกิน เพื่อที่นกหรือสัตว์ป่าอื่นๆ จะกลับมา ดอยตุงจะได้มีความหลากหลายทางระบบนิเวศอีกครั้ง สี่คือต้นที่ชาวบ้านชอบเพื่อที่ชาวบ้านจะได้อยู่กับป่าได้ และสุดท้ายคือต้นที่หายากเพื่ออนุรักษ์ไว้ อย่างดอยตุงก็ยังมีต้นกฤษณา แต่หายากมาก เมื่อหาเมล็ดได้ ผมจะปลูก"
 
"ต้นลำดวนดอยก็หายากมาก มีแค่ไม่กี่ที่ในประเทศไทย ต้นนี้ถ้าโตแล้วจะใหญ่มาก 50 เมตร แต่ใช้เวลาเป็นร้อยปี ถ้าเราปลูก เราตายก่อน แต่ไม่เป็นไร ปลูกให้ลูกหลานน่ะ" อาจารย์มาตินทิ้งท้ายด้วยความหวัง
 
 
Visitors: 1,430,485