ตีค่าค้าคาร์บอนเครดิตป่าชุมชน?

โมงยามที่โครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนที่มีป่าไม้เดิมอยู่แล้วถูกโหมกระพือในทั่วทุกสารทิศ

เราอยากชวนคุณทำความเข้าใจผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย ผลกระทบ และข้อท้าทายของโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนแบบ REDD+ 

ใครคือเจ้าของคาร์บอนเครดิตป่าชุมชน?

ผืนป่าชุมชนในประเทศไทยอยู่ภายใต้การดูแลของสํานักจัดการทรัพยากรป่าไม้ กรมป่าไม้ เมื่อชุมชนสนใจเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชน ในทางกฎหมายจึงจำเป็นต้องขอความเห็นชอบในการเข้าร่วมโครงการกับทางกรมป่าไม้ก่อนการขอขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) 

อีกทั้งยังต้องทำตาม ระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากการปลูก อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าไม้ พ.ศ. 2564 ที่ระบุให้กรมป่าไม้เป็น เจ้าของโครงการ ซึ่งหมายถึง เจ้าของกรรมสิทธิ์ในคาร์บอนเครดิต 'กรมป่าไม้' ในฐานะเจ้าของโครงการสามารถทำสัญญาตกลงแบ่งปันคาร์บอนเครดิตกับ ผู้พัฒนาโครงการ ได้ และอาจมีคณะกรรมการป่าชุมชนแต่ละแห่งเป็นเจ้าของโครงการร่วมได้โดยมีสิทธิ์ในคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ตามระเบียบฯ ยังระบุว่าผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนาโครงการหรือเจ้าของโครงการร่วมต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ T-VER ทั้งหมด

 

ส่องโครงการ P-REDD+ คาร์บอนเครดิตชุมชนในประเทศไทย

เมื่อมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯเป็นโต้โผใหญ่

      โครงการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าและการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในระดับโครงการ P-REDD+ ที่ขึ้นทะเบียน T-VER Standard โดย อบก. ณ วันที่ 27 ก.พ. 67 มีทั้งหมด 24 โครงการ โดยมี 19 โครงการที่พัฒนาและดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมป่าไม้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และชุมชน 

“ถ้าชุมชนดูแลพื้นที่ป่าได้ดี เอกชนก็สามารถนำคาร์บอนเครดิต (Carbon credits) มาใช้ Offsets หรือในการ Net-zero pathways ได้ เราก็กำลังหาวิธีการในการที่จะทำให้เราสามารถที่จะสเกลธุรกิจไปได้เร็ว เพราะเราก็เห็นว่าปัจจัยเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องเร่ง ต้องเดินให้เร็ว แล้วก็ต้องมั่นใจว่าเมื่อเราเดินไปแล้วก็ต้องเดินได้อย่างถูกต้อง ตามกฎตามเกณฑ์กติกาต่างๆ แล้วก็ไม่ไปล้ำหน้าวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ และไม่เกิดประเด็น Greenwashing พยายามที่จะแสดงให้เห็นเลยว่าถ้าชุมชนได้รับโอกาส ธรรมชาติก็จะได้รับการดูแล”

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวในบทความ “ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล กับภารกิจ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ โมเดล ส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ไทยรัฐ ออนไลน์ ณ วันที่ 26 พ.ย. 66

“หลักการทำคาร์บอนเครดิตของเรา  เราจะไม่ตัดต้นไม้ก่อนแล้วค่อยปลูก แบบนั้นไม่ใช่วิธีการของเรา เพราะมันจะทำให้ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ”

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านบทความ “หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล - "ขับเคลื่อน แม่ฟ้าหลวง-ต่อยอดธุรกิจ-พัฒนาคนให้สังคม"” ในเว็บไซต์ ททบ.5 เมื่อวันที่  14 ก.พ. 67

 

สำรวจกระบวนการและรายจ่ายโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชน
กรณี “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

กรณีสมมุติพื้นที่โครงการ 1,000 ไร่ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี (ตามเงื่อนไขของ T-VER ประเภทป่าไม้) และขึ้นขอรับรองคาร์บอนเครดิต 3 ครั้งตลอดโครงการ

 

คาร์บอนเครดิตแบ่งกันอย่างไร?

คำถามสำคัญที่ตามคือเมื่อได้คาร์บอนเครดิตจากการดำเนินโครงการมาแล้ว คาร์บอนเครดิตเหล่านั้นจะถูกแบ่งให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ชุมชน เอกชน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และภาครัฐอย่างไร? ในสัดส่วนเท่าไหร่? แบบไหนที่เรียกว่าเป็นธรรม?

แน่นอนว่าแรงจูงใจสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้เอกชนเข้าร่วมสนับสนุนโครงการในลักษณะนี้ คือ การได้รับ “คาร์บอนเครดิต” เพื่อใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจของตนเอง ตามเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ Net Zero Emissions ในระดับองค์กร ที่เป็นกระแสกดดันให้ภาคเอกชนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่ชุมชนเองก็ต้องการรายได้เพื่อสนับสนุนการดูแลป่าและการพัฒนาความเป็นอยู่ในพื้นที่ ตอบแทนการลงแรงรักษาดูแลป่าเช่นกัน

ว่ากันตามเงื่อนไขของภาครัฐ การแบ่งสรรปันส่วนคาร์บอนเครดิตจากโครงการป่าไม้ในพื้นที่ป่าของรัฐไม่สามารถทำได้ตามอำเภอใจ แต่มีการกำหนดกรอบแนวทางเอาไว้ตามระเบียบของหน่วยงานที่ได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าของป่า” ไม่ว่าจะเป็น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ และกรมทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม โดยเงื่อนไขจะแตกต่างกันไปขึ้นกับประเภทของป่า เช่น เป็นป่าอนุรักษ์ หรือป่าชายเลน และตามประเภทโครงการ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ โครงการปลูกและบำรุงป่า และโครงการการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและจัดการป่าชุมชน

สำหรับโครงการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าและการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในระดับโครงการ P-REDD+ หรือโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนที่เรากำลังพูดถึงกันนี้ มีเงื่อนไขแบ่งผลประโยชน์ตาม ระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ว่าด้วยการปกครอง ดูแลบำรุงรักษา ใช้ประโยชน์จากไม้ และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน พ.ศ. 2566 โดยกำหนดสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนร้อยละ 40 ให้ผู้ยื่นคำขอร้อยละ 50 และให้กรมป่าไม้ ร้อยละ 10

อย่างไรก็ตามในกรณี “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ดำเนินการโดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นผู้พัฒนาโครงการร่วมในฐานะที่ปรึกษาของชุมชนนั้น จากการสอบถามไปยังสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ ถึงแนวทางการแบ่งคาร์บอนเครดิต วันที่ 17 เม.ย. 67 พบว่าป่าชุมชนที่ดำเนินโครงการระยะที่ 1-2 พ.ศ. 2563-2564 จะแบ่งสัดส่วนในลักษณะให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนชนร้อยละ 90 และให้กรมป่าไม้ร้อยละ 10 ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนฯ พ.ศ.2566 ข้อ 48 ที่ระบุว่า “ผู้พัฒนาโครงการร่วมจะไม่ได้รับสิทธิในการขอแบ่งปันคาร์บอนเครดิตตามระเบียบนี้” แต่โครงการระยะถัดมาจะแบ่งสัดส่วนตามมาตรา 18 ให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนร้อยละ 40 ให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร้อยละ 50 และให้กรมป่าไม้ ร้อยละ 10

 

ขอขอบคุณบทความและอ่านต่อฉบับเต็ม ได้ที่ https://workpointtoday.com/

Visitors: 1,430,477